มะเขือขื่น


 
            บ่าเขือแจ้ บ่าเขือฮืน (ภาคเหนือ) (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 868) มะเขือหืน (ภาคใต้) (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, ผู้รวบรวม, 2548, 175)
 
            เป็นไม้พุ่ม สูง ประมาณ 1 – 3 เมตร ลำต้นกลม สีเขียว บริเวณก้านใบและใบจะมีหนามปกคลุม ดอกเป็นช่อ ออกบริเวณตอนล่างของใบ เป็นดอกสมบูรณ์เพศ สีม่วงเข้ม มีขนปกคลุม ผลรูปร่างกลม หรือค่อนข้างกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-5 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงเจริญติดกับผลด้วย บริเวณกลีบเลี้ยง มีหนามปกคลุม ผลแก่ มีสีเขียวปนเหลือง เปลือกผล เหนียวกว่าและไม่กรอบเท่ามะเขือเปราะ เมล็ดในผลมีมากมาย รูปร่างค่อนข้างกลมแบน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 -3 เซนติเมตร ออกดอกออกผลตลอดปี มักพบขึ้นตามที่รกร้างและในสวน (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 868)
 
        
            มะเขือขื่น 100 กรัม มีแคลเซียม 55 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม วิตามินซี 63 มิลลิกรัม (ผักพื้นบ้าน อาหารไทย, 2548, 206) ข้อมูลทางอาหารนั้น ชาวล้านนาใช้ผลอ่อน รับประทานทั้งผล เป็นผักจิ้มหรือผักแกง มีรสขมและขื่นเล็กน้อย หรือนำมายำเรียก “ส้าบ่าเขือแจ้” หรือใช้ใส่ในน้ำพริก เช่น น้ำพริกอี่เก๋ น้ำพริกบ่าเขือแจ้ เป็นต้น บ้างนำผลแก่ไปเผาสุก ตำให้ละเอียดแล้วผสมลงในเนื้อสับที่จะทำลาบจิ๊น (ลาบเนื้อหรือลาบหมู) ช่วยทำให้ลาบนั้น นุ่มเหนียวขึ้น (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 868) คนภาคกลาง ใช้ผลดิบ ต้มหรือลวก ใช้จิ้มน้ำพริก ฝานเปลือกใส่แกงป่า (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, ผู้รวบรวม, 2542, 187; (ผักพื้นบ้าน อาหารไทย, 2548, 206) คนอีสาน นิยมใช้ปรุงอาหารกับส้มผัก เช่น ส้มผักบั่ว ส้มผักกาด ฝานเปลือกใส่ส้มตำลาว เพื่อให้มะเขือขื่น ลดรสเฝื่อน รสฝาดได้ (อร่าม คุ้มกลาง และคณะ, ผู้รวบรวม, 2541, 197)
        
ราก ขับเสมหะ ทำให้น้ำลายแห้ง แก้ไขสันนิบาต แก้น้ำลายเหนียว แก้ไอ กระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้ที่มีพิษร้อน ใช้ปรุงกับยาอื่น แก้กามตายด้าน และบำรุงความกำหนัด ลูกมะเขือขื่น แก้เสมหะ แก้น้ำลายเหนียว แก้ไขสันนิบาต (วุฒิ วุฒิธรรมเวช, 2540, 348)

สาระสำคัญในมะเขือแจ้ คือ Alkaloids ต่างๆ ในทางเภสัชกรรมล้านนา ใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับหลายชนิด เช่น ยาจำเริญกำลังแรงนัก (ยาบำรุงพละกำลัง) ยาเสลด (ยารักษาอาการมีเสมหะและยารักษาตาต้อ) ยายางเหลืองมักเป็นขางเขี้ยนขาว (ยารักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน) ยาแก้ไอ ขับเสมหะ แก้อาเจียน แผลเป็นหนองและหืด เป็นต้น เชื่อกันว่าหากรับประทานมะเขือเข้าไปมากๆ จะทำให้มีความรู้สึกทางเพศสูง และในหญิงมีครรภ์นั้น หากรับประทานมะเขือขื่น เชื่อกันว่าครรภ์จะโตมาก ซึ่งจะทำให้คลอดลูกยาก (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 868)
 
            ตลอดปี
 
 
            

กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, ผู้รวบรวม. (2542). ผักพื้นบ้านภาคกลาง. กัญจนา ดีวิเศษ บรรณาธิการ. นนทบุรี: โครงการพัฒนาตำรา สถาบันการแพทย์แผนไทย.

. (2548). ผักพื้นบ้านภาคเหนือ. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ บรรณาธิการ. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี: ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย.

ผักพื้นบ้าน อาหารไทย. (2548). กรุงเทพฯ: แสงแดด.

รัตนา พรหมพิชัย. (2542). เขือแจ้, บ่า. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 2, หน้า 868). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

วุฒิ วุฒิธรรมเวช. (2540). สารานุกรมสมุนไพร: รวมหลักเภสัชกรรมไทย. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

อร่าม คุ้มกลาง และคณะ, ผู้รวบรวม. (2541). ผักพื้นบ้านภาคอีสาน. กัญจนา ดีวิเศษ และอร่าม คุ้มกลางบรรณาธิการ. นนทบุรี: โครงการพัฒนาตำรา สถาบันการแพทย์แผนไทย.