เห็ดหล่ม


 
            เห็ดหอม (ภาคกลาง) เห็ดตะไคล (ตะวันออกเฉียงเหนือ) (ศรีเลา เกษพรหม, 2542, 7616)
 
            เห็ดหล่ม หรือ เห็ดหอม เป็นชื่อเห็ดหลายชนิดซึ่งอยู่ในสกุล Russula virescens Fr. บ้างเรียกว่า เห็ดหล่มกระเขียว หรือ เห็ดตะไคล ( ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ) ชื่อสามัญคือ Green Agaric หรือ Greenish Mushroom ลักษณะหมวกเห็ดสีเขียวหม่นอมน้ำตาลอ่อน เมื่อบานขอบโค้งลง ตรงกลางเว้าตื้น ผิวปริแตกเป็นเกล็ดสี่เหลี่ยมเผยให้เห็นเนื้อสีขาว ครีบสีขาวหรือขาวนวล ยึดติดกับก้าน ก้านสีขาวหรือสีขาวนวล ยาว 3-5 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 ซม. ผิวเรียบ โค้งเรียวเล็กกว่าตอนบนเล็กน้อย สปอร์รูปกลมรี สีขาว ขนาด 5-6 x 6-8 ไมครอน ผิวขรุขระ มีสันนูนเชื่อมเป็นตาข่ายรอบสปอร์และมีติ่ง 1 อัน เห็ดหล่มชนิดนี้มีเขตกระจายพันธุ์ในประเทศไทยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นเป็นดอกเดี่ยวในป่าไม่ก่อและป่าสน มีกลิ่นหอมกินได้ รสดี พบทั่วไป - ชนิด Russula delica คือ เห็ดหล่มขาว ชื่อสามัญคือ Milk White Russula หรือ short Stalk White Russula ลักษณะหัวเห็ดรูปกระทะคว่ำ สีขาวนวลหรือน้ำตาลอ่อน เส้นผ่าศูนย์กลาง 8-20 ซม. กลางหมวกเป็นแอ่ง เมื่อเป็นดอกอ่อนดอกม้วนงอลง ผิวเรียบ แห้งมักมีดินติดเปรอะอยู่กลางหมวก ครีบสีขาวหรือสีขาวนวล ก้านยาว 2.5-6.0 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-4 ซม. ผิวเรียบ สีขาว ดอกเห็ดบางแห่งเป็นสีน้ำตาลปน เนื้อในเห็ดสีขาว เปราะและหักง่าย สปอร์รูปกลมรี สีขาว ขนาด 7-8 ไมครอน ผิวขรุขระและมีสันนูนสานกันแบบร่างแห เห็ดหล่มขาวมีแหล่งกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ขึ้นเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม 2-3 ดอก ตามป่าสนและป่าเบญจพรรณ กินได้ แต่ไม่นิยม เพราะทำให้สุกแล้วมีรสไม่ดี ในต่างประเทศพบที่ทวีปยุโรป ทางภาคเหนือของอเมริกามีเห็ดชนิด Russula brevipos Peck ซึ่งที่ครีบเรียงกันถี่และแคบกว่าเห็ดชนิดนี้ นักวิทยาศาสตร์บางคนจัดเป็นเห็ดชนิดเดียวกันและให้ Russula Delica Fr. เป็นชื่อเรียกมาก่อน ชนิด Russula Heterophylla Fr. คือ เห็ดหล่มเขียว ชื่อสามัญคือ Forked Russula ลักษณะหมวกเห็ดรูปกระทะคว่ำ สีเขียวอมน้ำตาล น้ำตาลอมเหลืองหรือเขียว มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-8 ซม. กลางหมวกเว้าตื้น ผิวเรียบ เมื่อเปียกชื้นเป็นมัน ครีบสีขาวนวล แคบ รียงกันถี่และเชื่อมติดกันเป็นรูปส้อมก่อนเรียวลงไปติกก้าน ก้านสีขาวยาว 6-7 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 ซม. มักมีรอยช้ำเป็นสีน้ำตาล เนื้อในเห็ดสีขาว สปอร์ค่อนข้างกลม สีขาว ขนาด 4-6 x 5-7 ไมครอน ผิวขรุขระ เห็ดหล่มชนิดนี้มีเขตกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ขึ้นไปป่าเบญจพรรณ กินได้ ในต่างประเทศพบในทวีปแอฟริกาและยุโรป (ศรีเลา เกษพรหม, 2542, 7616-7617)
 
        
            โปรตีน คาร์โบไฮเดรต แคลเชี่ยม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และเส้นใย ข้อมูลทางอาหาร เห็ดหล่มชนิดต่าง ๆ นี้ ชาวล้านนานิยมนำมาประกอบอาหารกันหลายชนิด เช่น แกงเห็ดหล่ม คั่วเห็ดหล่ม น้ำพริกเห็ดหล่ม (ศรีเลา เกษพรหม, 2542, 7617)
 
 
 
            

ศรีเลา เกษพรหม. (2542). เห็ดหล่ม. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 14, หน้า 7616-7617). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

เห็ดกินได้และเห็ดมีพิษในประเทศไทย : ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (2539). กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน

อนงค์ จันทร์ศรีกุล. (2530). เห็ดเมืองไทย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.