มะม่วง


 
            มะม่วงบ้าน (ทั่วไป) บ่าม่วง (ภาคเหนือ) มะม่วงสวน (ภาคกลาง) แป (ละว้า-เชียงใหม่) หมักโม่ง (เงี้ยว-ภาคเหนือ) ส่าเคาะส่า สะเคาะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, ผู้รวบรวม, 2542, 205)
 
            เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ แตกกิ่งก้านสาขาออกไปรอบต้นจนดูหนาทึบ เปลือกของลำต้นมีสีน้ำตาลอมดำ พื้นผิวเปลือกขรุขระเป็นร่องไปตามแนวยาวของลำต้น ใบรูปหอกสีเขียวเข้ม ใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นคู่ๆ ไปตามก้านใบ ขอบใบเรียบไม่มีหยัก ปลายใบแหลม ส่วนโคนใบมน เนื้อใบค่อนข้างหนา ดอก ออกเป็นช่อ ช่อหนึ่งมีดอกเล็กๆ จำนวนมากประมาณ 15-20 ดอก ลักษณะของดอกเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีนวลๆ มีขนาดเล็ก ผล บางทีมีเป็นรูปมนรี ยาวรี หรือเป็นรูปกลมป้อม ผลอ่อนมีสีเขียวเมื่อแก่หรือสุกเต็มที่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองสด ภายในผลมีเมล็ดหนึ่งเมล็ด (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, ผู้รวบรวม, 2542, 109)
 
        
            มะม่วง 100 กรัม ให้พลังงานแก่ร่างกาย 67 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย โปรตีน 0.5 กรัม ไขมัน 0.2 กรัม คาร์โบไฮเดรต 15.7 กรัม ใยอาหาร 2.4 กรัม แคลเซียม 14.00 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 2 มิลลิกรัม เหล็ก น้อยมาก เบต้าแคโรทีน 37 ไมโครกรัม วิตามินบี 1 0.05 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.02 มิลลิกรัม ไนอาซิน 0.2 มิลลิกรัม และวิตามินซี 35 มิลลิกรัม (ปรียา ไตรรัตน์ณรงค์, 2547, 94) ข้อมูลทางอาหาร ผลดิบ มีรสเปรี้ยวใช้ปรุงรสแทนมะนาว ยำมะม่วง น้ำพริกมะม่วง ผลสุก มีรสหวาน รับประทานเป็นผลไม้ ยอดอ่อนและใบอ่อน รับประทานเป็นผักสดแกล้มกับน้ำพริกหรือนำไปยำได้ (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, ผู้รวบรวม, 2542, 109) ชาวล้านนา นำใบอ่อนของมะม่วงปรุงอาหาร ประเภท ส้า เรียกว่า "ส้ายอดมะม่วง"
        
เปลือกของลำต้น ต้มน้ำกินเป็นเป็นยาแก้ไข้ แก้โรคคอตีบ แก้เยื่อปากอักเสบ แก้เยื่อเมือกในจมูกอักเสบ
ใบ ต้มน้ำกินแก้ลำไส้อักเสบเรื้อรัง แก้ซางตานขโมยในเด็ก แก้อืดแน่น
ผลสด นำมากินเป็นยาแก้คลื่นไส้อาเจียนวิงเวียน แก้โรคเลือดออกตามไรฟัน ขับปัสสาวะ เป็นยาระบาย
เมล็ด ต้มเอาน้ำกินถ่ายพยาธิตัวกลม แก้ท้องร่วง แก้บิดเรื้อรัง แก้ริดสีดวงทวาร ตาขาว ตกเลือด ท้องอืด (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, ผู้รวบรวม, 2542, 109) เมล็ดสด นำมาโรยเกลือ รับประทาน ใช้ขับปัสสาวะ หรือเป็นยาแก้บวมน้ำ (ปรียา ไตรรัตน์ณรงค์, 2547, 93)

 
 
 
            

กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, ผู้รวบรวม. (2542). ผักพื้นบ้านภาคกลาง. กัญจนา ดีวิเศษ บรรณาธิการ. นนทบุรี: โครงการพัฒนาตำรา สถาบันการแพทย์แผนไทย.

ปรียา ไตรรัตน์ณรงค์. (2547). คัมภีร์ แพทย์สมุนไพร ผลไม้ สมุนไพรและพืชผักสวนครัว. กรุงเทพฯ: One World.