ผักจุมปา


 
            ผักปุ๋มป๋า ผักกาดนา (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 3859)
 
            เป็นพืชล้มลุกที่เจริญมาจากเมล็ดจนโตเต็มที่ แล้วตายภายในเวลาเพียงหนึ่งฤดูกาล ( Annual) มักขึ้นช่วงหลังจากปักดำนาข้าวกล้าแล้วไปประมาณ 1 เดือน เช่นเดียวกับผักขาเขียด ลำต้นอ่อนนิ่ม อวบน้ำ สีเขียวอ่อน ต้นตั้งตรงสูง 10-20 ซม. ไม่ค่อยแตกกิ่งก้านมากนัก จะมีเฉพาะส่วนยอด 2-3 กิ่ง ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงตัวสลับ ( Alternate ) ออกตามข้อของลำต้น เนื้อใบอ่อนบอบบางมากและเหี่ยวง่าย ขนาด 1-1.5 x 1.5-3 ซม. ก้านใบยาว 0.5 ซม. ใบรูปหอก ( lanceolate ) ฐานใบแหลม ( Acute ) ปลายใบแหลม ( Acute ) ขอบใบเรียบ ( Entire ) เส้นใบเป็นแบบขนนก ( Pinnate ) ดอกออกเป็นช่ออยู่ที่อวบอ้วน ยาวประมาณ 0.5 ซม. ก้านช่อยาวประมาณ 1 ซม. ไม่มีก้านดอก ไม่มีกลีบเลี้ยง กลีบดอก 5 กลีบ สีขาวอมม่วง เกสรตัวผู้มี 5 เกสรตัวเมียมี่ 1 รังไข่ ติดอยู่เหนือฐานรองดอก ดอกบานจากล่างขึ้นบน ดอกออกราวเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ผลเป็นผลแห้ง มี 1 เมล็ด รูปร่างกลม เป็นพืชที่พบขึ้นตามท้องนาหรือพื้นที่ที่มีน้ำท่วมถึง ถือเป็นวัชพืชในท้องนา หลังจากที่ให้เมล็ดแล้วจะตายในเดือนธันวาคมหรือมกราคมในปีถัดไป ผักปุมปลาจะเริ่มงอกงามในฤดูทำนา (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 3859)
 
        
            ไม่มีข้อมูลสารอาหาร ข้อมูลทางอาหารสำหรับชาวล้านนานั้น นิยมนำผักจุมปา หรือผักกาดนามาทำอาหารประเภทยำ เรียกว่ายำผักจุมปา หรือยำผักปุ๋มป๋า เป็นผักจิ้มน้ำพริก โดยเฉพาะน้ำพริกปลาโดยการกินสด ๆ หรือลวก (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 3859; น้อย จำรัส, 2550, สัมภาษณ์)
 
 
 
            

น้อย จำรัส. (2550). สัมภาษณ์. 22 มิถุนายน.

รัตนา พรหมพิชัย. (2542). ปุมปลา, ผัก. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (เล่ม 8, หน้า 3859). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.