เห็ดลม


 
            เห็ดกระด้าง เห็ดขอน (อีสาน) เห็ดบด (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, 2548, 247; เตือนใจ ไชยศิลป์ และคณะ, 2545, 13; รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 7614; เตือนใจ นุชดำรง และธีรยุทธ สมตน, 2548, 32)
 
            เห็ดลม เป็นเห็ดที่ออกตามขอนไม้ผุที่มีความชื้นพอเพียง เช่น ขอนไม้แงะ ไม้เพา ไม้ตะเคียน เป็นต้น หมวกเห็ด เป็นรูปกรวยลึก สีขาวนวลหรือน้ำตาลอ่อนอมเทา เส้นผ่าศูนย์กลาง 5-8 เซนติเมตร เหนียวคล้ายหนัง ขอบงอลงเล็กน้อย ผิวมีขนสั้นๆ สีน้ำตาล ซึ่งรวมกันคล้ายเกล็ดเล็กๆ และปลายงอนขึ้นเล็กน้อย เกล็ดเรียงกระจายออกไปยังขอบหมวก ดอกอ่อนมีขอบบางและม้วนงอลง ครีบสีน้ำตาลอ่อนอมเทา บางและแคบ เมื่อแห้งจะเหนียวแข็ง และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลอมม่วง ครีบมีความยาวต่างกัน 5 ขนาด ด้านใน ขนานเรียวเล็กลงไปติดก้าน ด้านนอก เรียวแคบไปติดขอบหมวก ขอบครีบ เป็นจักฟันเลื่อยเล็ก ๆ (เตือนใจ ไชยศิลป์ และคณะ, 2545, 48; รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 7614)
 
        
            ไม่มีข้อมูลสารอาหาร สำหรับทางอาหารนั้น ทั้งดอกเห็ด นำมาแกงกับผักคราดหัวแหวน หรือรับประทานสด ดอกเห็ดอ่อนใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริกตาแดง (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, 2548, 247) ชาวล้านนา นิยมนำมาเป็นส่วนผสมของแกงแค คั่วแค ใช้แกง เช่น แกงเห็ดลม
        
บำรุงร่างกาย ชูกำลัง แก้ไขพิษ (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, 2548, 247)
 
            ฤดูฝน จนถึงปลายฤดูฝน (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, 2548, 247)
 
 
            

กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, ผู้รวบรวม. (2548). ผักพื้นบ้านภาคเหนือ. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ บรรณาธิการ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย.

เตือนใจ ไชยศิลป์ และคณะ. (2545). สมุดภาพสมุนไพร : โครงการ "ม่อนยาป่าแดด". กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

เตือนใจ นุชดำรง และธีรยุทธ สมตน. (2548). พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน : พืชอาหารป่าชาวลีซู. กรุงเทพฯ: สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.

รัตนา พรหมพิชัย. (2542). เห็ดลม. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (เล่ม 14, หน้า 7614). กรุงเทพฯ:มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.