มะเขือเทศ


 
            มะเขือส้ม (ภาคเหนือ) น้ำเนอ (ละว้า-เขียงใหม่) มะเขือ (ทั่วไป) ตรอบ (เขมร-สุรินทร์) ตีรอบ (เขมร) ฮวงเกีย (จีน) (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, 2542, 191)
 
            ต้น เป็นพืชอายุปีเดียว ต้นสูง ๑ – ๒ เมตร ปกคลุมด้วยขนอ่อนนุ่ม ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกสลับกัน ใบย่อยมีตัวใบข้างหนึ่งเล็กข้างหนึ่งใหญ่ ใบบางรูปรี ปลายใบแหลม ฐานใบไม่เท่ากัน ขอบใบมีรอยหยักคล้ายฟันเลื่อยหรือเว้าลึก ใบยาว ๕ -๗ เซนติเมตร ดอก ออกเป็นช่อที่ง่ามใบ ช่อหนึ่งมี ๓ – ๗ ดอก กลีบดอกสีเหลือง โคนติดกันเป็นหลอด ส่วนปลายแยกเป็น ๕ – ๖ กลีบ ผล มีขนาดและสีแตกต่างกันไปแต่ละชนิด ส่วนใหญ่กลมรี หรือกลมแบน ผิวนอกเรียบเป็นสีแดงหรือสีเหลือง มีเนื้อฉ่ำน้ำ มีเมล็ดจำนวนมาก พันธุ์ดั้งเดิมที่มีผลกลมขนาดเล็กประมาณผลมะเขือพวงและติดเป็นพวง มีรสเปรี้ยวมากชาวล้านนามักเรียกว่า บ่าเขือบ่าแฅว้ง หรือ บ่าเขือส้มพุก (อ่าน บ่าเขือส้มปุ๊ก) สาวนชนิดที่มีผลกลมรี สีส้มแดง ขนาดประมารผลบ่าหลอด (สลอดเถา) มักเรียกกันว่า บ่าเขือส้มบ่าหลอด (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 870)
 
        
            ไม่มีข้อมูลสารอาหาร ชาวล้านนาได้ใช้มะเขือเทศประกอบอาหารต่างๆ เช่น ผลสุกสดใช้เป็นผักกินกับอาหารประเภทยำ ลาบ ส้า หรือน้ำพริก ใส่แกงต่างๆ เช่น แกงขนุน แกงสะแล แกงผักเฮือด ผลสุกนำไปเผาเป็นส่วนผสมในตำรับน้ำพริกต่างๆ อาทิ น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกปลาร้า หรือน้ำพริกฮ้า โดยเฉพาะน้ำพริกอ่อง ถือว่ามะเขือเทศนี้เป็นส่วนผสมสำคัญ นิยมใช้มะเขือเทศลูกเล็ก (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 870; ประทุม อุ่นศรี, 2550, สัมภาษณ์; สิรวิชญ์ จำรัส, 2550, สัมภาษณ์)
        
ผลเป็นยาระบายอ่อนๆ แก้กระหายน้ำและเบื่ออาหาร ผลมีวิตามินเอ และซีจำนวนมากในต้นมะเขือเทศมีสารสำคัญ คือโทมาทีน (tomatine) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อราและแบคทีเรียบางชนิดที่เป็นต้นเหตุของโรคในพืชและคนได้ แต่มีฤทธิ์ไม่แรงนัก รากและใบแก่ต้มกินแก้ปวดฟัน ใบบดเป็นผงละเอียด เป็นยาเย็น ใช้ทาผิวถูกแดดเผา เป็นต้น นอกจากนี้ ใบชงกับน้ำร้อนใช้เป็นยาพ่นกำจัดหนอนที่มากินผักได้ (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 870) สารสีแดงไลโคปินช่วยป้องกันมะเร็งร้ายหลายชนิด และโรคหลอดเลือดหัวใจ (ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์, 2547, 59)

 
            ตลอดปี
 
 
            

กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, ผู้รวบรวม. (2542). ผักพื้นบ้านภาคกลาง. กรุงเทพฯ: โครงการพัฒนาตำรา สถาบันการแพทย์แผนไทย.

เต็ม สมิตินันทน์. (2523). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (ชื่อพฤกษศาสตร์-ชื่อพื้นเมือง). กรุงเทพฯ: กรมป่าไม้.

ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์. (2547). สารานุกรมผัก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: แสงแดด.

รัตนา พรหมพิชัย. (2542). เขือส้ม, บ่า. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (เล่ม 2, หน้า 870). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.