ขนุน


 
            บะหนุน บ่าหนุน มะหนุน หมากหนุน (เหนือ) หมักหมี่ บักมี่ (อีสาน) ขะนุ ขะนู (จันทบุรี) (ผักพื้นบ้าน อาหารไทย, 2548, 182) เนน (โคราช) (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, 2548, 32) ขะเนอ (เขมร) หมักหมี้ ( อีสาน ) ขะนู (จันทบุรี ) นากอ ( มลายู-ปัตตานี ) นะยวยซะ (กะเหรี่ยง) ล้าง (เงี้ยว) (วุฒิ วุฒิธรรมเวช, 2540, 122) หมากลาง (ไทใหญ่-แม่ฮ่องสอน)
 
            ขนุนมีหลายพันธุ์ พันธุ์พื้นเมืองแท้ดั้งเดิม คือขนุนหนัง หรือชาวล้านนาเรียก ขนุนเป๊อะ ขนุนจำปาดะ ขนุนละมุด หรือขนุนหิน (วุฒิ วุฒิธรรมเวช, 2540, 122; รัตนา พรหมพิชัย และรังสรรค์ จันต๊ะ, 2542, 7342) ขนุนละมุดหรือขนุนหิน เป็นขนุนที่นิยมนำมาแกง เพราะเนื้อแข็ง ปัจจุบัน มีการปรับปรุงพันธุ์ มีกว่า 50 พันธุ์ ตั้งชื่อตามเจ้าของ และลักษณะผลและใบ เช่น ทวายทั้งปี ศรีบรรจง ทองสุดใจ จำปากรอบ (รัตนา พรหมพิชัย และรังสรรค์ จันต๊ะ, 2542, 7342) ต้น ไม้ยืนต้นขนาดกลางลำต้นสูงประมาณ 8-15 ซม. มียางขาวทั้งต้น ไม้เนื้ออ่อน แกนสีเหลือง ใบ ใบรูปร่างกลมรี เนื้อในเหนียวและหนา ปลายใบแหลมยาว 7-15 ซม. ก้านใบยาว 1-2.5 ซม. ใบสีเขียวเรียบเป็นมัน ดอก ดอกออกเป็นกลุ่ม ช่อดอกตัวเมียและตัวผู้จะอยู่บนต้นเดียวกัน ช่อดอกตัวผู้ จะออกที่โคนกิ่งลำต้น ง่ามใบ ลักษณะของดอกเป็นแท่งยาวประมาณ 2.5 ซม. ช่อดอกตัวเมียเป็นแท่งกลมออกจากลำต้นก้านขนานใหญ่ ดอกตัวผู้มีกลิ่นหอมคล้ายส่าเหล้า ผล เป็นผลรวม ผลกลมและยาวขนาดใหญ่ หนัก 10-60 กิโลกรัม ในหนึ่งผลใหญ่จะมีผลย่อยหลายผล (เรียงยวง) เมล็ด กลมรี เนื้อหุ้มเมล็ดสีเหลือง ถ้าสุกมีกลิ่นหอม เปลือกหุ้มเมล็ดบาง รับประทานได้ (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, 2548, 32) แก่นไม้ขนุน เรียกว่า กรัก ใช้ย้อมผ้าจีวรพระ เวลาย้อม ให้เติมสารส้มลงไป จะทำให้สีไม่ตก ถ้าผสมขมิ้น จะให้สีเข้มขึ้น ต้มผสมครามจะให้สีเขียว สารที่ทำให้เกิดสี คือ Morin & Cyanomaclurin ปลูกเป็นอาหาร และทำสีย้อม ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด (วุฒิ วุฒิธรรมเวช, 2540, 122) คติความเชื่อเกี่ยวกับขนุน คนไทยนิยมปลูกขุนไว้บริเวณหลังบ้าน เพราะเชื่อว่าเป็นไม้มงคล ที่จะนำโชคลาภมาให้แก่เจ้าของบ้าน มีคนคอยช่วยเหลือจุนเจือ สำหรับชาวล้านนา เชื่อว่า แกงขนุนในโอกาสสำคัญ เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ถ้าแกงขนุนในงานแต่งงาน เป็นเคล็ดให้คู่บ่าวสาวมีคามเกื้อหนุนจุนเจือซึ่งกันและกัน ขนุนมียางเหนียว มีความหมายไปถึงการครองชีวิตคู่อยู่อย่างเหนียวแน่นตลอดไป และในวันปากปี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คือวันหลังวันเถลิงศก (วันพญาวัน) มักจะมีการแกงขนุน หรือแกงบ่าหนุน เพราะเชื่อว่า จะทำให้มีสิ่งที่คอยอุดหนุนจุนเจือให้แก่คนในครอบครัวตลอดทั้งปี นอกจากนี้ นิยมนำใบขนุนรองในหลุมสามงคล หรือเสาเอกของบ้าน เชื่อว่าทำให้เจ้าของบ้าน จะมีคนมาอุดหนุนจุนเจือ และถ้านำไม้ขนุนมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปไม้ แล้วนำไปถวายวัด ผู้นั้นจะมีความมั่งคั่งสมบูรณ์ และด้วยลักษณะของยางขนุนที่มีความเหนียวหนึบ ชาวล้านนา เรียกความเหนียวนี้ว่า ตั๋ง จึงมีคำพังเพยโบราณว่า แกงบ่าหนุน ก้นตั๋ง ซึ่งมักใช้เปรียบเปรยผู้ที่ไปเยี่ยมบ้านผู้อื่น แล้วนั่งอยู่นานๆ ดังจะเห็นจากคำอู้บ่าวสาว (คำที่ใช้พูดจีบกันของหนุ่มสาวโบราณ เมื่อฝ่ายหญิงถามฝ่ายชายว่ากินข้าวกับอะไร ฝ่ายชายตอบว่า กินข้าวกับแกงบ่าหนุน ก็แสดงว่าฝ่ายชายต้องการบอกเป็นนัยว่า วันนี้จะอยู่คุยด้วยนานๆ (รัตนา พรหมพิชัย และรังสรรค์ จันต๊ะ, 2542, 7343)
 
        
            เส้นใยอาหาร แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินซี (ผักพื้นบ้าน อาหารไทย, 2548, 182)
        
ใบ รสฝาด ใช้บดโรยแผลมีหนองเรื้อรัง แกน (กรัก) ราก รสหวานชุ่มขม บำรุงหิต แก้กามโรค ขับพยาธิ ระงับประสาท แก้โรคลมชัก ยาง รสฝาด แก้อักเสบบวม แผลมีหนองเรื้อรัง แก้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ เนื้อหุ้มเมล็ดสุก รสหวานหอม บำรุงกำลัง ชูหัวใจให้สดชื่น เป็นยาระบายอ่อนๆ หรือหมักทำเหล้า เนื้อในเมล็ด รสมัน บำรุงน้ำนม บำรุงกำลัง ต้องต้มหรือเผาให้สุกก่อนรับประทาน เป็นอาหารที่มีแป้งมาก (วุฒิ วุฒิธรรมเวช, 2540, 122) ผลอ่อน แก้อาการท้องเสีย ส่วนเนื้อสุกเป็นยาระบายอ่อนๆ (ผักพื้นบ้าน อาหารไทย, 2548, 182)
 
            ตลอดปี
 
 
            

กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, ผู้รวบรวม. (2548). ผักพื้นบ้านภาคเหนือ. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ บรรณาธิการ. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี: ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย.

ผักพื้นบ้าน อาหารไทย. (2548). กรุงเทพฯ: แสงแดด.

รัตนา พรหมพิชัย และรังสรรค์ จันต๊ะ. (2542). หนุน, บ่า. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (เล่ม 14, หน้า 7341-7343). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์

วุฒิ วุฒิธรรมเวช. (2540). สารานุกรมสมุนไพร: รวมหลักเภสัชกรรมไทย. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.