Find Picture of      By     
Thai Version English Version
หน้าแรก
       
 
ดูภาพตามหมวดหมู่ ความเป็นมา บุญเสริม สาตราภัย อดีตล้านนาจากภาพถ่าย ผู้มีอุปการะคุณ เพิ่มรูปของคุณ ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
  
  ชายเผ่าตองเหลือง หรือมลาบรี จังหวัดน่าน เมื่อ พ.ศ. 2505
กลับไปหน้าแสดงรายการภาพ  

คลิกที่รูปด้านบนเพื่อดูรูปขนาดใหญ่



ชายเผ่าตองเหลือง หรือมลาบรี จังหวัดน่าน เมื่อ พ.ศ. 2505
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ เชียงใหม่
ตองเหลือง; มลาบรี
ตองเหลือง

             เผ่าตองเหลือง เป็นชื่อของชนเผ่าหนึ่งที่มีลักษณะเป็นคนป่า มักร่อนเร่อยู่ตามป่าลึก โดยเรียกตามวัสดุที่ใช้มุงหลังคาคือ ใบตอง เมื่อใบไม้ใบตองที่มุงหลังคาหรือทำเป็นซุ้ม เปลี่ยนเป็นสีเหลืองแล้ว คนเหล่านี้ก็จะย้ายไปอยู่ที่อื่นต่อไป

             Dr. H. Bernatzik ชาวออสเตรียได้ทำการสำรวจพบเผ่าตองเหลือง เมื่อ พ.ศ.2479 ในดงทึบเขตจังหวัดน่าน คนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า  ยำบรี” สันนิษฐานว่าเป็นพวกเดียวกับเผ่าตองเหลืองที่คณะสำรวจของสยามสมาคม ซึ่งมีนายไกรศรี นิมมานเหมินท์เป็นหัวหน้า ค้นพบเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2505 และในการสำรวจครั้งนี้ มีนายบุญเสริม สาตราภัย ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์คนเมืองเดินทางไปสำรวจในครั้งนี้ด้วย นับเป็นช่างภาพกลุ่มแรกที่ถ่ายภาพเผ่าตองเหลือง และได้การเขียนสารคดีเรื่อง ผีตองเหลือง สารคดีเรื่องนี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทสารคดีประจำปี พ.ศ. 2505 จากมูลนิธิวิชาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

             การเรียกชื่อตนเองของเผ่าตองเหลืองนั้น นายไกรศรี นิมมานเหมินท์ กล่าวว่าชนกลุ่มนี้เรียกตนเองว่า  มระบรี” ทำเพิงอาศัยอยู่ที่ริมห้วยน้ำทา ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดน่าน ก่อนนี้ Mr.Oliver Gordon Young รายงานว่าชาวแม้วและชาวมูเซอที่ดอยเวียงผา อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ได้พบเผ่าตองเหลืองในเขตของตนและว่าพวกนี้พูดภาษาว้ากับเรียกตนเองว่า  โพล” การที่เรียกตัวเองว่า  มระบรี-มราบรี” เพราะคำนี้แปลว่าคนป่า  มรา” แปลว่า คน  บรี” แปลว่า ป่า

             กล่าวกันว่า ตองเหลือง เป็นชนเผ่าหนึ่งที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในเขตจังหวัดไซยะบุรี ประเทศลาว ปัจจุบันอาศัยอยู่ตามภาคเหนือของประเทศไทย อาทิ อำเภอเมือง อำเภอร้องกวาง อำเภอสอง จังหวัดแพร่ และอำเภอสา จังหวัดน่าน ถิ่นที่อยู่ของตองเหลือง มักจะเป็นเขตชุ่มชื้น ตามความลาดของไหล่เขา อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลราวๆ 3,000 ฟุตขึ้นไป และตั้งที่พักใกล้แหล่งน้ำเพื่อประโยชน์ในการอุปโภคบริโภคตลอดจนสามารถหากุ้ง ปลา และสัตว์น้ำต่างๆ มาประกอบเป็นอาหารได้

             สำหรับรูปร่างลักษณะของเผ่าตองเหลือง คือ รูปร่างเล็กแต่แข็งแรง บ้างว่าเหมือนคนทางภาคเหนือของประเทศไทยแต่ผิวคล้ำกว่า เครื่องนุ่งห่มมีแต่ผ้าเตี่ยวผืนเดียวและผ้านุ่งนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อจำเป็นต้องเข้ามาในหมู่บ้านเพื่อเอาของป่ามาแลกกับข้าวสาร เกลือและของใช้ที่จำเป็น เช่น มีดหรือหอกเท่านั้น

             ชาวเผ่าตองเหลือง มีความเชื่อคล้ายกับชาวเขาเผ่าอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวกับสิ่งลึกลับ เช่น ภูตผีปิศาจ และวิญญาณต่างๆ โดยเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มีอำนาจเหนือวิถีชิวิตของพวกเขา จึงมีการเซ่นบวงสรวงสิ่งต่างๆ เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย อนึ่ง ในคืนวันที่พระจันทร์เต็มดวง ตองเหลือง จะทำพิธีถวายเครื่องเซ่นแก่ผีทั้งหลายที่พวกเขานับถือ แล้วจะมีงานรื่นเริง พวกเขาจะเต้นรำไปรอบๆ หอกประจำตัวของแต่ละคนที่นำมาตั้งรวมกันไว้กลางวง การเต้นรำของพวกเขาเป็นเพียงการเดินโยกตัวไปมารอบๆ วง พร้อมกับพลิกมือไปมา ขณะที่โยกตัวก็จะมีการพึมพำเนื้อเพลงไปด้วย สำหรับเนื้อเพลงก็คล้ายกับเพลงของพวกโยนกโบราณ คนที่ไม่ร่วมเต้นรำก็จะล้อมวงปรมมือให้จังหวะ เมื่อดึกมากเข้า จึงแยกย้ายกันไปนอนหลับ

             นอกจากนี้ ตองเหลือง ยังได้รับการปลูกฝังจากบรรพชนมาเป็นเวลาช้านานว่า หากอยู่เป็นหลักแหล่งโดยไม่โยกย้ายไปไหน ผีร้ายจะส่งเสือให้มาคร่าทำลายพวกเขา จึงต้องย้ายที่อยู่เกือบทุก 5-10 วัน ซึ่งการปฏิบัติตามความเชื่อนี้ สอดคล้องกับหลักความสมดุลและหลักทางวิชาการบางประการ นั่นคือ อาหารที่มีอยู่รอบบริเวณที่พักลดน้อยลง ก็จะย้ายไปหาที่อยู่แห่งใหม่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากว่า

             ลักษณะเพิงที่พักของชนเผ่าตองเหลือง คล้ายกับเพิงหมาแหงน แต่ภายในไม่มีการยกพื้นและปลูกแคร่คร่อมดินเหมือนเพิงหมาแหงนโดยทั่วไป ท้ายเพิงมักจะสูงกว่าหน้าเพิงพักใช้พื้นดินเป็นพื้นเพิงและนำหญ้าฟางแห้งหรือใบตองมาปูบนพื้น เวลานอนจะไม่หนุนหมอน แต่ตะแคงหูแนบพื้น เพื่อให้สามารถได้ยินฝีเท้าคนหรือสัตว์ที่เข้ามาใกล้เพิงพักได้ พวกผู้หญิงและเด็กจะอยู่ในกระท่อมที่สร้างบนภูเขาสูง เมื่อพวกผู้ชายไปล่าสัตว์หาของป่าหรืออาหารได้เพียงพอแล้ว จึงจะกลับไปหาลูกเมียเสียครั้งหนึ่ง

             ด้านสุขนิสัยนั้นตองเหลืองมักจะขับถ่ายตามสุมทุมพุ่มไม้รอบเพิงพัก เมื่อเกิดโรคระบาดจึงสามารถแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว การย้ายแหล่งที่อยู่อาศัยไปยังแห่งใหม่จึงช่วยบรรเทาการระบาดของโรคได้ ในการย้ายที่อยู่จะเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ เมื่อพระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้า และจะหยุดสร้างที่พักก่อนตะวันจะลับฟ้าด้วยเกรงว่าจะเกิดอันตรายจากการเดินทางและสัตว์ป่าต่างๆ

             ในกรณีที่สมาชิกคนหนึ่งคนใดเสียชีวิต ญาติพี่น้องจะช่วยกันทำศพ โดยนำศพไปวางบนแคร่ที่สร้างไว้บนต้นไม้ใหญ่เพื่อป้องกันสัตว์ร้าย เช่น เสือมาขุดคุ้ยกินศพ เพราะเชื่อว่า ถ้าเสือได้กินศพแล้วอาจติดใจและจำกลิ่นเนื้อคนได้ ต่อมาพบว่ามีการฝังศพแทนการทิ้งศพดังกล่าว และภายหลังจากการฝังศพแล้วจะโยกย้ายที่อยู่อาศัยทันที ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาไหนของวันก็ตาม การสร้างที่พักจึงเป็นแบบเพิงชั่วคราว เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายที่อยู่บ่อยๆ นั่นเอง
             ธรรมเนียมอย่างหนึ่งของเผ่าตองเหลืองคือ ชายหญิงทุกคนต้องเจาะหูทั้งสองข้างตั้งแต่เด็ก รูหูที่เจาะมีขนาดประมาณ 0.5 -1.0 เซนติเมตร โดยใช้ไม้ไผ่เหลากลมปลายแหลมแทงลงไปบนเนื้ออ่อนบริเวณติ่งหู สมัยก่อนมักจะนำดอกไม้มาเสียบไว้ในรูหูเพื่อเป็นการประดับร่างกาย แต่ในปัจจุบันเมื่อติดต่อกับชนเผ่าอื่นๆ เช่น ม้งหรือเย้า ทำให้ธรรมเนียมนี้ลดความนิยมลงไป แต่ก็ยังมีปรากฏให้เห็นบ้างประปราย
             แม้ว่าชนกลุ่มน้อยเผ่าอื่นจะรับเอาความเจริญจากสังคมพื้นราบเข้าไป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมตลอดจนวิถีความเป็นอยู่ต่างๆ แต่สำหรับ เผ่าตองเหลือง การเปลี่ยนแปลงยังคงมีน้อย สามารถรักษาวิถีชีวิตแบบเก่าๆ ไว้ได้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการย้ายที่อยู่บ่อย จึงไม่ค่อยได้สมาคมกับคนภายนอกเผ่า อีกทั้งอิทธิพลความเชื่อถือที่ยึดมั่นมาตั้งแต่ครั้งอดีตยังฝังอยู่ในจิตใจของชนกลุ่มนี้อย่างเหนียวแน่น ปัจจุบันนี้ ประมาณกันว่าจำนวนของเผ่าตองเหลือง ในประเทศไทยมีไม่เกิน 150 คน จึงนับว่าพวกเขาเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนน้อยที่สุดในประเทศ


รายการอ้างอิง
บุปผา คุณยศยิ่ง และ วิลักษณ์ ศรีป่าซาง. (2542). ผีตองเหลือง. ใน สารานุกรม
������ ������วัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (เล่ม 8, หน้า 4116-4118). กรุงเทพฯ: มูลนิธิ
������ ������สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักหอสมุด
เชียงใหม่
ntic@lib.cmu.ac.th
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ
เชียงใหม่
itsc@itsc.cmu.ac.th
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ผู้ให้ทุนสนับสนุน
อุษณีย์ ธงไชย, ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการ
2505
image/jpeg(.jpeg .jpe .jpg)
1 ภาพ; ขาวดำ; 8x10 นิ้ว
BS-NN-ML014
ท่านอาจจะบันทึกหรือพิมพ์รูปภาพเพื่อการวิจัยและการศึกษาค้นคว้า ถ้าท่านต้องการใช้สำหรับวัตถุประสงค์อื่น ท่านต้องติดต่อสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อขออนุญาตใช้
 
สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
เว็บไซต์และฐานข้อมูลภาพล้านนาในอดีต โดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง

     
     
  Copyright © 2008 Northern Thai Information Center (NTIC), Chiang Mai University. All Rights Reserved.
239 Huay Kaew Rd., Mueang District , Chiang Mai, Thailand 50200
Tel. 0 5394 4514, 0 5394 4517
ntic@lib.cmu.ac.th
 
/* */