Find Picture of      By     
Thai Version English Version
หน้าแรก
       
 
ดูภาพตามหมวดหมู่ ความเป็นมา บุญเสริม สาตราภัย อดีตล้านนาจากภาพถ่าย ผู้มีอุปการะคุณ เพิ่มรูปของคุณ ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
  
  ป้อมแจ่งหัวลิน ถ่ายเมื่อ พ.ศ.2541
กลับไปหน้าแสดงรายการภาพ  

คลิกที่รูปด้านบนเพื่อดูรูปขนาดใหญ่



ป้อมแจ่งหัวลิน ถ่ายเมื่อ พ.ศ.2541
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ เชียงใหม่
ป้อมแจ่งหัวลิน; แจ่งหัวลิน
ป้อมแจ่งหัวลิน; แจ่งหัวลิน

             หากเดินเข้าไปในบริเวณกำแพงเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน จะเห็นภาพของต้นไม้ คูน้ำ กำแพงเมืองและถนนที่ทอดยาวโอบล้อมเมืองไว้ เป็นภาพที่ก่อให้เกิดความสบายตาและสงบร่มรื่นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในช่วงเวลาเย็นๆ ดูเหมือนว่าจะเป็นภาพที่แตกต่างจากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่อายุ 70-80 ปี ที่เล่าว่าเมื่อตอนที่ยังเป็นเด็ก บริเวณกำแพงเมืองมีสภาพทรุดโทรม บางส่วนมีหญ้ารกปกคลุม และบางส่วนพังทลาย ถนนริมกำแพงเมืองด้านในเป็นเพียงทางเดินแคบๆ ส่วนถนนริมคูเมืองด้านนอกแคบมากขนาดคนเดินสวนกันได้เท่านั้น เกวียนไม่สามารถเดินผ่านได้ ผู้คนมักไม่กล้าเดินผ่านเพราะเปลี่ยวมาก มีหลักฐานว่าตั้งแต่ปี 2508 เป็นต้นมาทางเทศบาลได้เริ่มบูรณะประตูเมืองและแจ่งเมืองให้ดูเป็นระเบียบดังที่เห็นในปัจจุบัน
             ในปัจจุบันกำแพงเมืองเชียงใหม่มี 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นกำแพงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยอิฐมีขนาดกว้าง 900 วา ยาว 1,000 วา อีกส่วนเป็นกำแพงดินที่โอบล้อมเมืองตั้งแต่บริเวณถนนท่าแพใกล้วัดบุพพารามทอดยาวไปจนถึงโรงพยาบาลสวนปรุง
             ในบริเวณมุมกำแพงเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคนเมืองเรียกว่า แจ่ง แต่ละแจ่งมีชื่อเรียกดังนี้ คือ แจ่งหัวรินที่ถนนห้วยแก้วตรงกันข้ามกับโรงพยาบาลเชียงใหม่ราม แจ่งศรีภูมิตรงข้ามวัดชัยศรีภูมิ วัดนี้เดิมชื่อวัดพันตาเกิ๋น เนื่องจากมีเรื่องเล่าว่าคูเมืองตรงนี้ลึกมาก ต้องใช้บันไดไม้ไผ่ยาวถึง 1,000 ข้อ จึงจะสามารถหยั่งถึงพื้นได้ คนเมืองเรียกบันไดไม้ไผ่ว่าเกิ๋น จึงเรียกวัดนี้ว่าวัดพันตาเกิ๋น แจ่งขะต๊ำ ใกล้ๆ กับวัดพวกช้าง  ขะต๊ำ” หมายถึงเครื่องมือจับปลาประเภทหนึ่ง ซึ่งแต่เดิมบริเวณนี้ปลาชุกชุม ผู้คนมักจะมาดักปลาโดยใช้  ขะต๊ำ” ในบริเวณนี้จึงได้ชื่อว่าแจ่งขะต๊ำ แจ่งกู่เฮืองตรงกันข้ามโรงพยาบาลสวนปรุง
             กำแพงเมืองแต่ละด้านจากแจ่งสู่แจ่ง เจาะช่องประตูเป็นทางเข้าออกเมืองดังนี้ จากแจ่งหัวรินถึงแจ่งศรีภูมิมีประตูช้างเผือก จากแจ่งศรีภูมิถึงแจ่งขะต๊ำมีสองประตูคือ ประตูช้างม่อยและประตูท่าแพ จากแจ่งขะต๊ำถึงแจ่งกู่เฮือง มีสองประตูคือ ประตูเชียงใหม่และประตูสวนปรุง และจากแจ่งกู่เฮืองถึงแจ่งหัวรินมีประตูสวนดอก บริเวณประตูทั้ง 6 ประตู มีจารึกลงยันต์และคาถาบนศิลาจารึกติดไว้ที่ทางเข้าออกประตู แต่ที่ประตูช้างม่อยหายไป ในขณะที่บางแห่งได้ทำคัดลอกขึ้นใหม่ เช่นที่ประตูสวนปรุงและประตูสวนดอก เป็นต้น
             ทั้งด้านในและด้านนอกกำแพงเมืองแต่ละด้านมีถนนวิ่งผ่านโดยรอบ แต่ละถนนมีชื่อต่างกันดังนี้ จากแจ่งหัวรินถึงแจ่งศรีภูมิด้านในกำแพงเมือง เป็นถนนศรีภูมิ ด้านนอกเป็นถนนมณีนพรัตน์ จากแจ่งศรีภูมิถึงแจ่งขะต๊ำด้านในกำแพงเมือง เป็นถนนมูลเมือง ด้านนอกจากแจ่งศรีภูมิถึงประตูท่าแพ เป็นถนนชัยภูมิ จากประตูท่าแพถึงแจ่งขะต๊ำเป็นถนนคชสาร จากแจ่งขะต๊ำถึงแจ่งกู่เฮืองด้านในกำแพงเมือง เป็นถนนบำรุงบุรี ด้านนอกจากแจ่งขะต๊ำถึงประตูเชียงใหม่เป็นถนนราชเชียงแสน จากประตูเชียงใหม่ถึงแจ่งกู่เฮืองเป็นถนนช่างหล่อ และจากแจ่งกู่เฮืองถึงแจ่งหัวรินด้านในเป็นถนนอารักษ์ ด้านนอกเป็นถนนบุญเรืองฤทธิ์
             ปรากฏหลักฐานในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่า กำแพงเมือง คูเมือง และประตูเมือง สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองเชียงใหม่ แต่มีการบูรณะซ่อมแซมต่อมาอีกหลายสมัย
เมื่อพระยามังรายโปรดให้สร้างเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา พระองค์โปรดให้สร้างเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 900 วา ยาว 1000 วา และโปรดให้ขุดคูรอบเวียง เข้าใจว่ากำแพงเมืองในสมัยนี้ยังเป็นกำแพงที่ทำด้วยดิน เนื่องจากการสร้างกำแพงด้วยอิฐนั้นมีหลักฐานว่า สร้างในสมัยพระเมืองแก้ว ที่พระองค์โปรดให้ ปั้นดินจักก่อเมฆเวียงเชียงใหม่ และในสมัยพระเจ้ากาวิละ เมื่อพระองค์กลับมาซ่อมแซมเมืองเชียงใหม่ ทรงโปรดให้...สร้างรั้วแปลงเวียงก่อเมกปราการ กำแพงเชิงเทิน หอป้อมบานประตูหื้อแน่นหนา มั่นคง ขุดร่องคือเอาน้ำเข้า เพื่อให้เป็นที่ขามแข็งทนทานแก่ข้าศึก...
             สำหรับประตูเมืองเชียงใหม่นั้น เมื่อแรกสร้างเมืองเชียงใหม่ พระยามังรายทรงมีดำริที่จะ ... แปงประตูห้าแห่ง... ซึ่งไม่พบหลักฐานว่าในสมัยพระองค์ได้มีการสร้างประตูเสร็จทั้งห้าแห่งหรือไม่ เนื่องจากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า ในสมัยพระเจ้าติโลกราช เชียงใหม่มีประตูเมือง 6 ประตู ซึ่งประตู 2 แห่งได้สร้างในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนและพระเจ้าติโลกราชตามลำดับ
             ในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนโปรดให้สร้างประตูสวนแหเพื่อให้ความสะดวกแก่พระราชมารดาในการเสด็จไปควบคุมการก่อสร้างองค์เจดีย์หลวง ซึ่งในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมาเจดีย์องค์นี้สร้างยังไม่แล้วเสร็จ ที่ต้องเจาะประตูเพิ่มเพราะพระราชมารดาประทับอยู่ที่บ้านสวนแหด้านนอกกำแพงเมือง ซึ่งสันนิษฐานว่าตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่สวนปรุงในปัจจุบัน
ในสมัยพระเจ้าติโลกราชเมื่อพระองค์โปรดให้สร้างที่ประทับแห่งใหม่ ในบริเวณใกล้กับแจ่งศรีภูมิ จึงโปรดให้สร้างประตูศรีภูมิขึ้นอีกหนึ่งประตู เพื่อความสะดวกในการเดินทาง
             คนโบราณเชื่อว่าบริเวณประตูและแจ่งต่างๆ เป็นที่อยู่ของเทวดาอารักษ์ที่คอยดูแลรักษาเมืองและผู้คนให้มีความสุขและให้บ้านเมืองมีความอุดมสมบูรณ์ เทวดาอารักษ์เหล่านี้เปรียบเสมือนศรีและขวัญของเมือง ชาวเมืองต้องทำพิธีบูชาผีและอารักษ์เมืองทุกปี และในทางกลับกันหากต้องการทำลายเมือง วิธีหนึ่งคือการทำลายศรีและขวัญเมือง ด้วยการทำขึดบริเวณประตูเมือง ซึ่งเป็นที่สิงสถิตย์ของเทวดาอารักษ์เมือง เหมือนเช่นในสมัยพระเจ้าติโลกราช ทางอาณาจักรอยุธยาได้ส่งคนมาทำลายศรีและขวัญเมืองด้วยการทำคุณไสยนำไหใส่ยา (ของที่ไม่เป็นมงคล) ไปฝังไว้กลางเมืองและบริเวณประตูเมืองทั้งหกแห่ง ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมายภายในเมือง จนกระทั่งเมื่อพระเจ้าติโลกราชทรงทราบและโปรดให้แก้อาถรรพ์นำไหออกไปเผา ทำให้เชียงใหม่หมดเคราะห์ร้าย และค่อยๆ ดีตามลำดับ
             อาจารย์มณี พยอมยงค์กล่าวถึง เทวดาอารักษ์ที่สิงสถิตย์อยู่ที่ประตูเมืองไว้ดังนี้ เทวบุตร สุรักขิโต รักษาประตูช้างเผือกและประตูท่าแพตะวันออก เทวบุตรไชยภุมโม รักษาประตูเชียงใหม่และประตูเมืองด้านใต้ เทวบุตรสุรขาโต รักษาประตูสวนดอกด้านทิศตะวันตก เทวบุตรคันธรักขิโตรักษาประตูช้างเผือกด้านทิศเหนือ
             สำหรับบริเวณแจ่งต่างๆ มีศาลประจำแจ่ง ซึ่งเป็นที่สิงสถิตย์ของผีอารักษ์เมือง ศาลประจำแจ่งที่สำคัญที่สุดคือ ศาลประจำแจ่งศรีภูมิ เพราะเป็นบริเวณที่ทำพิธีเซ่นหรือเลี้ยง ผีเจ้าหลวงคำแดง ซึ่งเป็นอารักษ์เมืองที่มีอิทธิพลสูงสุด สูงกว่าผีตนใดในเชียงใน มีสถานะเป็นผีเจ้านาย โดยปกติผีเจ้าหลวงคำแดงจะสถิตย์อยู่ที่ดอยเชียงดาว

รายการอ้างอิง
สงวน โชติรัตน์ . (2516). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่.
             พระนคร: คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์
             สำนักนายกรัฐมนตรี.
มณี พยอมยงค์. (2533). ประเพณีสิบสองเดือน ล้านนาไทย..
             (พิมพ์ครั้งที่ 2). เชียงใหม่: ส.ทรัพย์การพิมพ์.
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักหอสมุด
เชียงใหม่
ntic@lib.cmu.ac.th
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ
เชียงใหม่
itsc@itsc.cmu.ac.th
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ผู้ให้ทุนสนับสนุน
อุษณีย์ ธงไชย, ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการ
2541
image/jpeg(.jpeg .jpe .jpg)
1 ภาพ; ขาวดำ; 8x10 นิ้ว
BS-CM-CC002
ท่านอาจจะบันทึกหรือพิมพ์รูปภาพเพื่อการวิจัยและการศึกษาค้นคว้า ถ้าท่านต้องการใช้สำหรับวัตถุประสงค์อื่น ท่านต้องติดต่อสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อขออนุญาตใช้
 
สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
เว็บไซต์และฐานข้อมูลภาพล้านนาในอดีต โดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง

     
     
  Copyright © 2008 Northern Thai Information Center (NTIC), Chiang Mai University. All Rights Reserved.
239 Huay Kaew Rd., Mueang District , Chiang Mai, Thailand 50200
Tel. 0 5394 4514, 0 5394 4517
ntic@lib.cmu.ac.th
 
/* */