Find Picture of      By     
Thai Version English Version
หน้าแรก
       
 
ดูภาพตามหมวดหมู่ ความเป็นมา บุญเสริม สาตราภัย อดีตล้านนาจากภาพถ่าย ผู้มีอุปการะคุณ เพิ่มรูปของคุณ ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
               ศึกษาชั้นมูลหรือชั้นเตรียม (ปัจจุบันเรียกชั้นอนุบาล) ที่โรงเรียนสาขาดาราวิทยาลัย เชิงสะพานนวรัฐฝั่งตะวันออก (ปัจจุบันเป็นบริเวณของโบสถ์คริสต์จักรที่ 1 ถนนเจริญราษฎร์ ตำบลวัดเกต เมื่อ พ.ศ. 2478
               ในปี พ.ศ.2479 จึงย้ายไปเรียนต่อชั้นประถมปีที่ 1 ที่โรงเรียนปรินส์รอยแยลวิทยาลัย เพราะโรงเรียนสาขาดารา เป็นโรงเรียนสำหรับสตรี และศึกษาต่อจนถึงชั้นมัธยมปีที่ 2 ในปี พ.ศ.2484 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลสั่งปิดโรงเรียนทั่วประเทศ โรงเรียนปรินส์ ฯ ถูกรัฐบาลเข้ายึดครอง เพราะเป็นโรงเรียนของคณะมิชชั่นนารีอเมริกันซึ่งเป็นคู่สงครามกับไทย รัฐบาลถือว่าเป็นทรัพย์สินของชนชาติศัตรู ได้มีการสร้างค่ายพักสำหรับทหารไทยขึ้นในโรงเรียน เมื่อเปิดเทอมใหม่ในปี พ.ศ. 2485 ท่านจึงย้ายไปเรียนที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย พอถึงปี
พ.ศ. 2488 สงครามรุนแรงขึ้นทุกขณะ รัฐบาลสั่งปิดโรงเรียนโดยไม่มีกำหนดอีก กระทั่งสงครามสงบเมื่อกลางปี 2488 จึงเปิดสอนอีกครั้ง
       
               บุญเสริม สาตราภัย เริ่มทำงานครั้งแรกที่ร้านขายปุ๋ยวิทยาศาสตร์ของพี่สาวที่ตลาดต้นลำไย ร้านขายปุ๋ยวิทยาศาสตร์แห่งนี้นับเป็นร้านแรกของเมืองเชียงใหม่
               ความรู้ในการถ่ายรูปของท่านเริ่มพร้อมๆ กับการเป็นพนักงานขายปุ๋ย กล่าวคือ ท่านได้รับการแนะนำและการฝึกสอนทางด้านเทคนิคการถ่ายรูปจากนายแพทย์อุทัย สนธินันท์ พี่เขยซึ่งเป็นช่างฝีมือถ่ายรูประดับประเทศ ด้วยความรักและความมุ่งมั่นในการถ่ายรูป ท่านได้ฝึกฝนเทคนิคการทำงานด้านนี้ตลอดเวลา จะเห็นได้จากเมื่อมีเวลาว่างจากการขายปุ๋ยนั้นท่านมักออกไปตระเวณถ่ายรูปสถานที่และโบราณสถานต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่อยู่เสมอ รวมทั้งมีโอกาสติดตามพี่เขยออกไปถ่ายรูปในจังหวัดต่างๆ เพราะพี่เขยซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยควบคุมไข้มาลาเรียภาคเหนือ มักจะต้องออกตรวจท้องที่ เพื่องานปราบไข้มาลาเรีย ทั้งในเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือ จึงชวนท่านออกไปช่วยถ่ายภาพการปฏิบัติงานของพนักงานมาลาเรีย ภาพถ่ายการปฏิบัติงานดังกล่าวถูกนำไปเผยแพร่ให้ชาวโลกได้ทราบว่าประเทศไทยเอาจริงเอาจังกับงานปราบมาลาเรียที่ทางสหประชาชาติได้ทุ่มเงินงบประมาณมาให้
               การทำงานดังกล่าวช่วยเพิ่มประสบการณ์ในการถ่ายรูปให้ท่านมากขึ้น และในช่วงนี้ท่านได้คุ้นเคยกับนักหนังสือพิมพ์เชียงใหม่แทบทุกคน เนื่องจากในช่วงนั้นสำนักพิมพ์ต่างๆ ยังไม่มีช่างภาพเป็นของตัวเอง เพราะกล้องถ่ายรูปมีราคาแพง ฉะนั้นเมื่อมีการรายงานข่าวใหญ่ครั้งใด จึงมักจะมาขอให้ท่านไปช่วยถ่ายรูปให้ ภาพถ่ายงานข่าวที่ท่านชื่นชมมากที่สุดในช่วงนี้ คือ ภาพถ่ายการขนย้ายทหารจีนฮ่อในกองพล 93 กลับไปประเทศไต้หวัน เมื่อปี พ.ศ. 2496 กับภาพตำรวจพลร่มและตำรวจชายแดนบุกทลายโรงงานผลิตฝิ่นเถื่อนของพวกจีนฮ่อ ที่บ้านแม้วปางป่าคา หลังดอยปุย บนดอยสุเทพ ในปีเดียวกัน
               อีกงานที่เป็นความภูมิใจของท่านคือ การเป็นช่างภาพคนเดียวของเชียงใหม่ที่เดินทางไปถ่ายภาพ
การเสด็จพระราชดำเนินเยือนภาคเหนือในปี พ.ศ. 2501 ตั้งแต่รถไฟพระที่นั่งถึงจังหวัดพิษณุโลกเป็นจังหวัดแรกได้มีโอกาสถ่ายทั้งภาพยนตร์และภาพนิ่งตั้งแต่จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ตาก เถิน ลี้ ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย แม่สาย พะเยา ลำปาง แพร่ น่าน และอุตรดิตถ์ จังหวัดสุดท้ายกระทั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับ
               ในปี พ.ศ. 2503 ท่านได้เข้าทำงานในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คนเมือง ในหน้าที่ผู้สื่อข่าว
งานสำคัญเมื่อทำงานอยู่ที่นี่ คือ การเขียนสารคดีเรื่อง ผีตองเหลือง จนกระทั่งได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทสารคดีประจำปี พ.ศ. 2505 นับเป็นนักหนังสือพิมพ์จากภูมิภาคคนแรกและคนเดียว ที่ได้รับรางวัลนี้ การเขียนสารคดีเรื่องนี้เป็นผลมาจากการสำรวจชนเผ่าผีตองเหลือง ที่จังหวัดน่านในปีพ.ศ. 2505 ร่วมกับคณะสำรวจของสยามสมาคม

               ในช่วงที่ทำงานที่หนังสือพิมพ์คนเมือง ท่านได้เข้าเป็นสมาชิกหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (พอ.ส.ว.) (พระยศในขณะนั้น
ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)
ได้ออกปฏิบัติการรักษาผู้ป่วยชาวเขาใน
ท้องถิ่นทุรกันดารและห่างไกลคมนาคมอยู่เสมอ
               ท่านทำงานอยู่ที่สำนักพิมพ์คนเมืองประมาณ 10 ปี และย้ายมาทำงานกับหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์อีกประมาณ 10 ปี จึงลาออกจากงานหนังสือพิมพ์ในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งนับเป็นการหันหลังให้กับวงการหนังสือพิมพ์อย่างสิ้นเชิง

               ช่วงเวลาการเป็นพนักงานขายปุ๋ย การทำงานในสำนักพิมพ์ และการทำงานอิสระ นับเป็นช่วงการสะสมภาพต่างๆ ของอดีตล้านนา รูปแล้วรูปเล่าเป็นจำนวนมาก เป็นการทำงานที่แม้จะเป็นงานในหน้าที่แต่ก็แฝงไว้ด้วยความรักและความเอาใจใส่ในการถ่ายภาพแต่ละภาพ
               ปัจจุบันภายในคลังภาพของท่านมีภาพอดีตล้านนาเป็นจำนวนมาก มีทั้งภาพถ่ายและฟิล์มภาพยนตร์ ส่วนหนึ่งถูกนำไปเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงเทพฯ รวมภาพของท่านทั้งสองแห่งมีประมาณ 3,000 ม้วน และฟิล์มภาพยนตร์ 8-16 มม. อีกจำนวนหนึ่ง

               ภาพถ่ายต่างๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึง พัฒนาการของเมืองเชียงใหม่ในช่วง 70 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ในช่วงที่บ้านเมืองบางส่วนยังไม่ได้มีการบูรณะซ่อมแซม


เช่น วัดเจ็ดยอด และกำแพงเมืองที่เสื่อมโทรม
ปรักหักพัง จนมาสู่ยุคของเชียงใหม่ภายใต้
แผนการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 1-3 (พ.ศ. 2504-2509) ซึ่งเน้นการกระจายความเจริญออกไปยังเมืองหลักตามภูมิภาคทั้ง
ภาคเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้ เชียงใหม่เป็นเมืองหลักในภาคเหนือที่ถูกเลือก ทำให้ได้รับ
การพัฒนาในทุกๆ ด้าน ภาพการพัฒนาเชียงใหม่ปรากฏอยู่ในภาพถ่ายที่มีอยู่เป็นจำนวนมากของ
นายบุญเสริม สาตราภัย
ทั้งการพัฒนาทางด้านคมนาคมที่เป็นภาพการสร้างถนนสายต่าง ๆ รวมทั้งการปรับปรุงสะพาน การซ่อมแซมบูรณะกำแพงเมือง และการเติบโตทางด้านธุรกิจการค้าในเชียงใหม่ เป็นต้น


               นอกจากนั้น ภาพถ่ายจำนวนมากเหล่านี้
ยังสะท้อนภาพของผู้คน และวิถีชีวิตของเมืองที่มี
ความหลากหลายทั้งเชื้อชาติและความเชื่อ รวมทั้งอารมณ์ และความรู้สึกของผู้คนในเหตุการณ์ต่างๆ
อีกด้วย
หน้า: ก่อนหน้า หน้า 1 หน้าปัจจุบัน หน้า 3 หน้าต่อไป
สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
เว็บไซต์และฐานข้อมูลภาพล้านนาในอดีต โดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง

     
     
  Copyright © 2008 Northern Thai Information Center (NTIC), Chiang Mai University. All Rights Reserved.
239 Huay Kaew Rd., Mueang District , Chiang Mai, Thailand 50200
Tel. 0 5394 4514, 0 5394 4517
ntic@lib.cmu.ac.th
 
/* */