ประเพณีล้านนา : ประเพณียี่เป็ง

ประเพณียี่เป็ง

ประเพณียี่เป็ง หรือประเพณีเดือนยี่ คำว่า ยี่ ในภาษาล้านนาหมายถึงเดือน ๒ ส่วนคำว่า เป็ง หมายถึง คืนที่มีพระจันทร์เต็มดวง ดังนั้น ยี่เป็ง จึงหมายถึงวันเพ็ญเดือนยี่ ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองของภาคกลาง การนับเดือนของล้านนานั้น เร็วกว่าภาคกลาง ๒ เดือน อันเนื่องมาจากการนับเดือนของชาวล้านนา เป็นการนับทางจันทรคติแบบจีน ประเพณียี่เป็ง ถือเป็นประเพณีที่สนุกสนานรื่นเริงของชาวล้านนาในยามฤดูปลายฝนต้นหนาว ท้องทุ่งข้าวออกรวงเหลืองอร่าม บางแห่งอยู่ในระหว่างเก็บเกี่ยว ท้องฟ้าปลอดโปร่งแจ่มใสยิ่งนัก

ดังนั้น ในช่วงฤดูนี้ เด็กๆจึงพากันเล่นว่าวกันอย่างสนุกสนานตามท้องทุ่ง และยิ่งเข้าใกล้วันเพ็ญสิบห้าค่ำ เดือนยี่ มักจะได้ยินเสียง บอกถบ (ประทัด) ที่ชาวล้านนาจุดเล่นดังอยู่ทั่วไป พระและเณรช่วยกันทำว่าวลม(โคมลอย) และปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า กิจกรรมเหล่านี้ เป็นสัญลักษณ์บอกว่าใกล้จะเข้าสู่เดือนยี่เป็งแล้ว

ในยามค่ำคืนยี่เป็งของชาวล้านนา หมู่บ้านจะสว่างไสวด้วยแสงผางประทีส (ประทีป) ที่ชาวล้านนาจุดบูชา เรียงรายทั่วทุกครัวเรือน บริเวณที่จุด ได้แก่ บันได หน้าต่าง ยุ้งข้าว นอกจากนี้ ยังจุดโคมไฟใส่ค้างแขวน บริเวณหน้าบ้านประดับตกแต่งด้วยซุ้มประตูป่า ปักโคมหูกระต่ายเรียงรายทั้งสองฝากของท้องถนนในหมู่บ้าน

ประเพณียี่เป็ง โคมและถนน

ที่วัดมีเทศนาธัมม์ตั้งธรรมหลวงหรือเทศน์มหาชาติ ทำซุ้มประตูป่า ขัดราชวัตร ปักช่อตุง จำลองเขาวงกต ภายในวิหาร ประดับตกแต่งด้วยตุงพระบฏเล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก และลานวัดมักจุดบอกไฟ (ดอกไม้ไฟ) เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ในภัทรกัปนี้ คือ พระกกุสันธะพุทธเจ้า พระโกนาคมะพุทธเจ้า พระกัสสปะพุทธเจ้า พระศากยมุนีโคตมะพุทธเจ้า และพระอริยเมตตรัยพุทธเจ้า