การทำว่าวฮม หรือ โคมลอย

ว่าวฮม หรือปัจจุบันมักเรียกว่า โคมลอย เป็นโคมที่ใช้ความร้อนในการพยุงให้ลอยขึ้นไปในอากาศ บ้างก็เรียกว่า ว่าวฮม ว่าวลม หรือว่าวควัน การทำว่าวชนิดนี้ มีความพิถีพิถันในการทำเป็นอย่างมาก มิฉะนั้นว่าวอาจจะไม่ลอยขึ้นสู่อากาศได้ การทำว่าวฮมในอดีต มี ๒ แบบ คือ ว่าวสี่แจ่ง คือว่าวที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยมและว่าวมน เป็นรูปทรงกลมทั้งด้านหัวและด้านท้าย ปัจจุบัน มีการประดิษฐ์ว่าวฮมหลากหลายรูปทรง เช่น ทรงเครื่องบิน ทรงจรวด ทรงแปดเหลี่ยม รูปปลา รูปช้าง รูปม้า รูปการ์ตูน ฯลฯ และมีการประกวดแข่งขันด้านรูปทรง และลูกเล่นที่ปล่อยในอากาศขณะที่ว่าวฮมลอยอยู่กลางอากาศ เช่น ปล่อยหาง ปล่อยร่ม ปล่อยเครื่องบิน ควันสี เป็นต้น

ว่าวฮม ว่าวลม หรือว่าวควัน

ว่าวสี่แจ่ง เป็นว่าวรูปทรงสี่เหลี่ยมด้านเท่าหรือสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นรูปทรงที่ทำได้ง่ายและนิยมทำกันทั่วไป วัสดุที่ใช้ในการทำประกอบด้วยกระดาษว่าว หรือกระดาษสาบาง ซึ่งกระดาษที่ใช้ทำนั้น ต้องมีความเหนียว ไม่ฉีกขาดง่ายและเบา การทำว่าวสี่แจ่ง มีสูตรที่กำหนดขนาดของตัวว่าว เช่น ถ้าใช้กระดาษ ๓๖ แผ่น มีรูปทรงสี่เหลี่ยมด้านละ ๖ แผ่น ๖ ด้าน เป็น ๓๖ แผ่นพอดี ส่วนสำคัญในการทำว่าวสี่แจ่งคือ การทำปากว่าว ให้พับครึ่งกระดาษสองครั้ง เพื่อหาจุดศูนย์กลาง ใช้เชือกวัดจากจุดศูนย์กลางไปหาขอบกระดาษ แบ่งเชือกออกเป็นสามส่วน ยกมาใช้เพียงส่วนเดียว แล้วนำส่วนที่มาใช้นั้นแบ่งเป็นสามส่วนอีกครั้ง และตัดสามส่วนนั้นออกหนึ่งส่วนให้เหลือสองส่วน เพื่อใช้เป็นความกว้างของปากว่าว ตัดกระดาษออกเป็นวงกลมให้มีขนาดย่อมกว่าปากว่าวเล็กน้อย จากนั้นนำไม้ไผ่มาเหลาเป็นเส้นกลมตามขนาดให้พอดีกับปากว่าว ขดเป็นวงกลมยึดติดกับปากว่าวด้วยกาว ส่วนด้านบนตรงกลางหรือด้านก้นของว่าว มักจะทำ หมง คือจุกสำหรับใช้ไม้สอดไว้ขณะที่รมควัน (สมพล ไวโย และอุดม รุ่งเรืองศรี,๒๕๔๒, หน้า ๖๒๕๗-๖๒๕๘)

โคมรังมดส้ม

ว่าวมน คือว่าวฮมทรงกลม นิยมใช้กระดาษว่าวจำนวนมาก อย่างน้อย ๖๔ แผ่น สำหรับทำส่วนปากและก้นอย่างละ ๑๒ แผ่น ส่วนด้านข้างต้องใช้กระดาษว่าว ๔๐ แผ่น หากต้องการขนาดใหญ่กว่านี้ และได้สัดส่วนลงตัวพอดี ต้องใช้สูตรที่ได้ทดลองทำกันมาตามภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น (สมพล ไวโย และอุดม รุ่งเรืองศรี, ๒๕๔๒, หน้า ๖๒๕๘-๖๒๖๐)

ว่าวมน

การทำว่าวมน

เริ่มจากการติดกระดาษว่าวในส่วนปากและส่วนก้นด้านละ ๑๒ แผ่น จากนั้นนำกระดาษว่าวที่ติดกาวให้แห้งแล้วนำมาพับตามรูป

  1. กระดาษว่าว ๑๒ แผ่นที่ติดกาว  ตากให้แห้ง จะได้ตามรูป
    การทำว่าวมน 1
  2. พับครึ่งจะได้ตามรูป
    การทำว่าวมน 2
  3. พับครึ่งอีก ๑ ชั้น
    การทำว่าวมน 3
  4. จะได้สามเหลี่ยมดังรูป
    การทำว่าวมน 4
  5. เชือกวัดจุดศูนย์กลาง แล้วลากหามุมทั้งสองข้าง แล้วใช้กรรไกรตัดตามรูปโค้ง
    การทำว่าวมน 5
  6. จะได้รูปโค้งตามรูป
    การทำว่าวมน 6
  7. เมื่อคลี่ออกจากรอยพับ  จะได้รูปทรงกลม เป็นส่วนปากและส่วนก้นของว่าวมน
    การทำว่าวมน 7

การคำนวณความกว้างของปากว่าวมีหลากหลายรูปแบบ เช่น วัดเส้นผ่าศูนย์กลางแล้วแบ่งเป็นสามส่วน จากนั้นเอามาส่วนเพียงหนึ่งส่วน เอาหนึ่งส่วนนั้นมาแบ่งเป็นสามส่วนอีกครั้ง ใช้สองส่วนในสามเป็นขนาดความกว้างของปากว่าว โดยใช้ไม้ไผ่เหลาให้ได้ขนาดพอเหมาะขดให้เป็นวงกลมตามขนาดที่คำนวณ ตัดช่องกลางกระดาษว่าว ส่วนปาก ให้ทากาวที่ไม้และติดกาวกับกระดาษว่าว จะได้ส่วนปากของว่าวมน เพื่อรมควันไฟเข้าไปข้างใน จากนั้นนำส่วนด้านข้างเข้ามาประกบติดกาวกับส่วนปากและส่วนก้นว่าว ส่วนก้นนิยมทำ หมง คือจุกสำหรับใช้ไม้ส้าว (ลำไม้ไผ่ใช้สำหรับสอยผลไม้หรือสิ่งของอย่างอื่นจากที่สูง) แทงยกขึ้น ขณะที่รมควันอัดเข้าไปในตัวว่าวรม

การปล่อยว่าวฮม

การปล่อยว่าวฮม ใช้ควันไฟที่มีความร้อนอัดเข้าไปในตัวว่าว เรียกว่า ฮมควัน ควันไฟที่อัดเข้าไป ทำให้ภายในตัวว่าวมีความร้อนที่จะให้พยุงตัวว่าวให้ลอยขึ้น เนื่องจากอากาศภายนอกในช่วงเดือนยี่ (พฤศจิกายน) จะเย็นลงบ้างแล้ว ดังนั้น การปล่อยโคมนิยมปล่อยกันในช่วงก่อนเที่ยง เพราะอากาศกำลังดีสำหรับการปล่อยว่าว ซึ่งต้องทำในที่โล่งกลางแจ้ง

การปล่อยว่าวฮม 1 การปล่อยว่าวฮม 2

การรมควันนั้น แบ่งหน้าที่กัน กลุ่มหนึ่งช่วยกันพัดเอาลมเข้าปากว่าว สมัยก่อนใช้กระด้งหรือถาดสังกะสี ปัจจุบันนิยมใช้พัดลม เพราะสะดวกและมีลมแรง มีคนหนึ่งทำหน้าที่ใช้ไม้ส้าวประคองหมง (จุกสำหรับใช้ไม้ส้าวแทงยกขึ้น) ให้ยกขึ้น เพื่อไม่ให้ว่าวกองกับพื้น และอีกกลุ่มหนึ่งเตรียมในส่วนรมควันไฟ โดยมากใช้ไม้ไผ่พันด้วยผ้าแล้วชุบด้วยชันหรือน้ำมันขี้ย้า ปัจจุบันนิยมใช้น้ำมันโซล่า ใช้ไม้ไผ่มาทำเป็นกระบอกสูบ นำไม้ไผ่ที่พันด้วยผ้าชุบน้ำมันสอดเข้าไปในกระบอก ดันให้หัวผ้าโผล่ออกมานิดหน่อย เพื่อให้ไฟลุก หรือใช้กาบกล้วยทำเป็นกรวยสวมไว้ เพื่อกันมิให้ไฟลุกมากจนไหม้กระดาษว่าว กระบอกไม้ไผ่นี้ ยังใช้สำหรับเร่งไฟ เพื่อเพิ่มควันความร้อนเข้าไปในตัวว่าว ในขณะที่รมควันไฟ ให้สำรวจรอยรั่ว ถ้าพบรอยรั่ว ให้นำกระดาษติดกาวปะทันที เมื่อรมควันไปได้ระยะหนึ่ง ในตัวว่าวจะมีความร้อนเพียงพอ ที่ทำให้ตัวว่าวลอยขึ้น เรียกว่า ลู่มือ ให้นำเอาลูกเล่นต่างๆ เช่น หาง ประทัดสายมามัดติดกับปากว่าว

การปล่อยว่าวฮม 3

จากนั้นนำเอาสะตวงใส่ข้าวตอกดอกไม้ ข้าวปลาอาหาร และอาจมีจดหมายใส่ลงไปด้วย ผูกติดไว้ตรงกลางปากว่าว พอว่าวลู่มือมากขึ้น คือสามารถลอยขึ้นได้แล้ว ให้ ฮ่ม หรือ ต๊อกก๊อก คือการโยกว่าวขึ้นลงสองสามครั้งแล้วจึงปล่อยมือ พอว่าวลอยขึ้นไปได้สักระยะ เสียงประทัดจะดังขึ้น ลูกเล่นต่างๆ เช่น เครื่องบิน หรือลูกเล่นอื่นๆ จะถูกปล่อยออกมา แล้วแต่ลูกเล่นต่างๆ ที่ใส่ไปกับว่าว พอว่าวลอยสูงขึ้นจนติดลมบน จะสามารถลอยไปได้ไกลมาก เช่น ว่าวลมของวัดกู่เต้า อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ลอยไปไกลและตกลงพื้นดินบริเวณจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ว่าวลมของวัดธาตุคำจังหวัดเชียงใหม่ตกลงพื้นดินบริเวณบ้านสะเอียบ แก่งเสือเต้น จังหวัดแพร่ และทางวัดได้มอบรางวัลให้ ๒๐๐ บาทสำหรับผู้ที่เก็บได้ โคมของชาวบ้านวัวลายลอยไปตกที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และชาวบ้านที่นั่นได้มารับรางวัลสลุงเงินจากชาวบ้านวัวลาย หลังจากนั้น ได้มีการสานสัมพันธ์ระหว่างหมู่บ้าน ไปมาหาสู่กันจนถึงปัจจุบัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันจนถึงปัจจุบัน (พระครูอดุลสีลกิตติ์ (ฐานวุฑโฒ), สัมภาษณ์, ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)

มีการบันทึกไว้ว่าเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๘๐ มีว่าวตกที่บริเวณกู่ว่าวใกล้ถนนสายเชียงใหม่ดอยสะเก็ด ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ ๘ กิโลเมตร มีป้ายเป็นภาษาพม่าบอกว่าเป็นว่าวมาจากเมืองมะละแหม่ง ชาวเชียงใหม่เดินทางไปรับรางวัลที่มะละแหม่ง ใช้เวลาประมาณสามเดือน และชาวมะละแหม่งได้ให้การต้อนรับอย่างเอิกเกริก และประมาณปี ๒๕๔๑ ว่าวของเทศบาลนครเชียงใหม่ลอยไปตกที่เมืองหลวงพระบาง และชาวเมืองหลวงพระบางได้นำว่าวมารับรางวัลจากเทศบาลนครเชียงใหม่ด้วย (สมพล ไวโย และอุดม รุ่งเรืองศรี, ๒๕๔๒, หน้า ๖๒๖๐)

การปล่อยว่าวฮม 4

ความเชื่อเกี่ยวกับการปล่อยว่าวฮม

ชาวล้านนาเชื่อว่าพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีเส็ด (ปีหมา) คือพระเกศแก้วจุฬามณี ซึ่งประดิษฐานอยู่บนสวรรค์ ดังนั้น การสักการะพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี คือการปล่อยว่าวฮมหรือว่าวไฟ พร้อมกับบูชาด้วยสวยดอกไม้ธูปเทียน โดยนำผูกติดกับตัวว่าวขึ้นไป เพื่อสักการะ หรือบุคคลทั่วไปก็สามารถบูชาว่าวฮม ว่าวไฟ เพื่อสักการะพระเกศแก้วจุฬามณีได้เช่นกัน ดังปรากฏในเทศน์ธัมม์พื้นเมืองเรื่อง พระมาลัยโปรดโลก กล่าวว่าผู้ใดอยากขึ้นสวรรค์ให้บูชาพระเกศแก้วจุฬามณี ปราชญ์ล้านนาได้รจนาคำสักการะพระเกศแก้วจุฬามณีเป็นภาษาบาลี ว่า

ตาวติงสา ปุเรรัมเม เกสาจุฬามณี สรีระปัพพะตา ปูชิตา สัพพะเทวานัง ตัง สิระสา ธาตุง อุตตะมัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา ฯ

ปัจจุบันยังมีความเชื่อว่า ว่าวฮมและว่าวไฟสามารถปล่อยเคราะห์ได้ จึงมักมีการนำเอาเล็บและเส้นผมใส่ลงไปในสะตวง เพื่อลอยเคราะห์ให้ออกไปจากตัว บ้างผูกจดหมายเขียนคร่าวร่ำ (ค่าวฮ่ำ) และใส่เงินเป็นรางวัลให้สำหรับผู้เก็บว่าวที่ตกได้ (พระครูอดุลสีลกิตติ์ (ฐานวุฑโฒ), สัมภาษณ์, ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)

ในอดีตเชื่อว่าว่าวไฟหรือโคมไฟตกที่บ้านใคร จะทำให้บ้านนั้นโชคร้าย หรือเป็นบ้านร้าง เนื่องจากรับเคราะห์ของคนที่ได้อธิษฐานปล่อยเคราะห์ แต่ปัจจุบันความเชื่อแบบนี้ไม่ได้ยึดถือกันแล้ว แต่การปล่อยโคมในปัจจุบัน ถ้าโคมไม่ได้มาตรฐานขนาดสัดส่วน อาจจะตกใส่บ้านเรือนและทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ หรือไปรบกวนเส้นทางการบินของเครื่องบินอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้