ตั้งธรรมหลวง/เทศมหาชาติ

ประเพณี ตั้งธัมม์หลวง หมายถึงการฟังพระธรรมเทศนาเรื่องใหญ่หรือเรื่องสำคัญ เพราะธรรมหลวงที่ใช้เทศน์มักจะเป็นเวสสันดรชาดก อันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะได้มาประสูติและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในชาติต่อมา มีทั้งหมด ๑๓ กัณฑ์ คำว่า “ตั้ง” แปลว่าเริ่มต้น การตั้งธรรมหลวง ก็อาจแปลว่าการสดับพระธรรมเทศนาจากคัมภีร์ที่จารขึ้นใหม่เป็นครั้งแรกด้วย ประเพณีนี้ตรงกับงานประเพณีฟังเทศน์มหาชาติของภาคกลาง การตั้งธรรมหลวงนี้ จะจัดขึ้นในวันเพ็ญเดือนยี่ มีการเตรียมงานนับตั้งแต่การเตรียมสถานที่ในการเทศน์และการเตรียมตัวของผู้จะมาฟังเทศน์ ถือเป็นพิธีใหญ่คู่งานทานสลากภัตต์ ดังนั้น จึงมีคตินิยมว่า ในวัดหนึ่งนั้นปีใดที่จัดงานทานสลากภัตต์ก็จะไม่จัดงานตั้งธรรมหลวง และปีใดที่จัดงานตั้งธรรมหลวงก็จะไม่จัดงานทานสลากภัต เพราะสองงานนี้ต้องใช้ความเสียสละความร่วมมือจากศรัทธาชาวบ้านอย่างมาก (มณี พยอมยงค์, ๒๕๔๓, หน้า ๒๕๔; อุดม รุ่งเรืองศรี, ๒๕๔๒, หน้า ๒๓๔๐-๒๓๔๑)

“ตั้งธรรมหลวง” นอกจากเทศน์มหาชาติหรือเวสสันดรชาดกแล้ว ธรรมหรือคัมภีร์ที่นำมาเทศน์ในงานตั้งธรรมหลวงนี้ อาจเป็นคัมภีร์ขนาดยาวเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ได้ ซึ่งทางวัดและคณะศรัทธาจะช่วยกันพิจารณา โดยอาจเป็นเรื่องในหมวด ทศชาติชาดกปัญญาสชาดก หรือชาดกนอกนิบาตเรื่องอื่น แต่ที่นิยมกันมากคือเรื่อง มหาชาติ หรือ เวสสันดรชาดก (เวสสันตระ) ซึ่งมีความเชื่อกันว่า หากได้ฟังเทศน์มหาชาติครบ ๑๓ กัณฑ์ จะไปเกิดในแผ่นดินยุคพระศรีอาริยะเมตไตรยในอนาคต และได้พละนิสงส์ดังปรากฏในพระธรรมเทศนาอานิสงส์แห่งการสร้างหรือฟังมหาเวสสันดรชาดกไว้ว่า

สังคายนาจารย์เจ้าทั้งหลายกล่าวดั่งนี้แล้ว ก็กล่าวคาถามาว่า ปูชา ปาเก เตชยนติ ทุคคติ เตน ปุญญสส ปาเก ดังนี้ว่า อันว่าคนทั้งหลายฝูงใด ได้บูชามหาเวสสันดรชาตกะ ผู้นั้นก็จะได้เป็นเจ้าพระยาในเมืองคน ยศประวารบ่จนมีมาก ช้างม้าหากเนืองนันต์ มีกลองนันทเภรีเก้าพันลูก เปี๊ยะพิณผูกเก้าพันเสียง สัททะสำเนียงชมชื่น สนุกต้องตื่นทุกรวายตรีทิวา ทาสีทาสามีมาก พร้อมอยู่แวดล้อมเฝ้าปฏิบัติ ทิพพสัมปัตติล้ำเลิศ ก็กลับเกิดมีตาม เล้มเงินเล้มคำและเสื้อผ้า ทั้งช้างม้าและข้าวเปลือกเข้าสาร ก็จักมีตามปรารถนาทุกเมื่อ จำเริญเชื่อมงคล ยถา ในกาลเมื่อใดพระศรีอริยเมตไตรยมาตรัสประยาและปัญญา เป็นพระพายหน้าบุญแก่กล้าก็จักได้หันหน้าท่านบ่สงสัย เหตุได้เป็นปาเถยยะกับธัมม์เวสสันตระชาตกะ อันยกมาที่นี้แล้ว ก็จักเถิงเซิ้งเวียงแก้วยอดมหาเนรพาน บ่อย่าชะแล”

ในคัมภีร์มาลัยสูตร กล่าวเป็นใจความว่า เมื่อครั้งมหาเถรขึ้นไปนมัสการพระเกศแก้วจุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์นั้น ได้พบพระอริยเมตไตรยเทพบุตร ท่านก็ได้สั่งมหาเถรเจ้ามาว่า “ให้คนทั้งหลายฟังธรรมมหาชาติให้จบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ในวันเดียวคืนเดียว แล้วจะได้ร่วมกับศาสนาของเรา” ดังนี้ เมื่อพระมหาเถรเทพมาลัยกลับจากสวรรค์แล้ว ก็นำเรื่องนี้มาบอกกับชาวโลกคนทั้งหลายได้ฟังก็เลยพากันฟังเทศน์มหาชาติจนถือเป็นประเพณีสืบมา

หากเป็นธรรมที่มีใช่เรื่องมหาชาติแล้วก็มักจะฟังกันไม่เกิน ๓ วัน แต่หากเป็นเวสสันดรชาดกหรือมหาชาติแล้วอาจมีการฟังเทศน์ต่อเนื่องกันไปถึง ๗ วัน โดยแบ่งการเทศน์เป็นวันแรกเทศน์ธรรมวัตร วันที่สองเทศน์คาถาพัน ก่อนที่จะเทศน์มหาชาติก็จะเทศน์เรื่องอื่นไปเรื่อย ๆ พอถึงวันสุดท้ายก็จะเทศน์ด้วยคัมภีร์ชื่อ มาลัยต้น มาลัยปลาย และอานิสงส์มหาชาติ รุ่งขึ้นเวลาเช้ามืดก็จะเริ่มเทศน์มหาชาติตั้งแต่กัณฑ์ทศพรเรื่อยไป จนครบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ซึ่งมักจะไปเสร็ฐเอาในเวลาทุ่มเศษ แล้วจะมีการเทศนธรรมพุทธาภิเษกปฐมสมโพธิ สวดมนต์เจ็ดตำนานย่อ ธัมมจักกัปปวัดตสูตร และสวดพุทธาภิเษก ปัจจุบันนิยมเทศน์จบภายในวันเดียว

เจ้าของกัณฑ์จะนิมนต์พระที่เทศน์เฉพาะกัณฑ์นั้นๆมาเทศน์ เรียกว่า เทศน์กินกัณฑ์ ทำนองที่ใช้เทศน์แบบพื้นเมืองเรียกตามแบบลานนาว่า ระบำ การเรียกชื่อกัณฑ์ ทางภาษาเหนือเรียกว่า ผูก ด้วยเหตุที่เทศน์มหาชาติเป็นที่นิยม จึงมีนักปราชญ์ฉบับล้านนาแต่งธรรมเป็นจำนวนถึงประมาณ ๑๕๐ ฉบับหรือสำนวน เช่นฉบับวิงวอนน้อย วิงวอนหลวง วิงวอนดอนกลาง หิ่งแก้วมโนวอน ท่าแป้น ริมฅง สร้อยสังกร ล้านช้างเวียงจันทร์ พุกาม พระงาม แม่กุ เมืองหาง พระสิงห์ โคมคำ เชียงของ น้ำดั้นท่อ ไผ่แจ้เรียวแดง พล้าวไกวใบ พล้าวหนุ่ม ชราเหลา อินทร์ลงเหลา ป่าซางเหลา สะเพาน้อย ฯลฯ และที่นิยมอย่างมากในปัจจุบันได้แก่ฉบับ สร้อยสังกรณ์ แต่งโดยพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ฟู อัตฺตสิโว) ได้รวมเอากัณฑ์ที่เด่นๆของฉบับต่างๆมารวมกัน เป็นฉบับใหม่ เป็นต้น ส่วนฉบับที่เป็นภาษาบาลีล้วนเรียกว่า คาถาพัน และฉบับที่แปลคาถาพันเรียกว่า จริยา

การเตรียมพิธีตั้งธรรมหลวง

ก่อนการจัดพิธีตั้งธรรมหลวง พระเณรและชาวบ้านต้องช่วยกันเตรียมงานเป็นการใหญ่ ล่วงหน้าอย่างน้อยเป็นเดือน เพราะต้องเตรียมการในหลายส่วน เช่น การ “ตกธรรม” คือการไปนิมนต์พระเสียงดีมาเทศน์ การตกแต่งสถานที่ การทำรั้วราชวัตร ประตูป่า ประดับโครงซุ้มด้วยทางมะพร้าว ประดับด้วยฉัตร ธง ช่อช้าง ต้นกล้วย ต้นอ้อย ต้นข่า ต้นกุก มาปักไว้ให้ดูเหมือนกับประตูเข้าป่า การที่จัดทำประตูป่านี้ คาดว่าคงจำลองมาจากเรื่องในเวสสันดรชาดก คือตอนที่พระเวสสันดรถูกขับให้ออกจากเมือง พร้อมทั้งพระมเหสีและโอรสธิดา จึงพากันเข้าไปอยู่ในป่าเพื่อบวชเป็นฤาษีบำเพ็ญบารมี เมื่อไปถึงประตูป่าที่มีพรานเจตบุตรเป็นผู้เฝ้า ได้ชี้ทางไปเขาวงกตให้และอาจมีการจำลองเขาวงกตไว้ภายในวัดให้ได้เดินเล่น โดยตรงกลางเขาวงกตจะมีแท่นบูชาพระพุทธรูปอยู่ หากหลงก็วนเวียนอบยู่จนกว่าจะเข้าไปสักการะพระพุทธรูปได้ จึงเป็นที่สนุกสนานของผู้ที่มาร่วมทำบุญ

สถานที่ใช้ในการ ตั้งธรรมหลวง จะนิยมใช้วิหาร ภายในจะต้องตกแต่งไปด้วยเครื่องบูชาเวสสันดรชาดก ได้แก่ ดอกบัว ดอกพ้าน(บัวสาย) ช่อสามเหลี่ยม ติดกนะดาษต้อง(กระดาษฉลุ) รูปช้าง ม้า วัว ควาย ทาสหญิง ทาสชาย แก้ว แหวน เงิน ทอง อย่างละ ๑๐๐ รูป ประดับโคมผัดที่เล่าเรื่องเวสสันดรชาดก มีการทำค้างโคมแขวนบูชา มีเชือกสำหรับดึงขึ้นลงได้ จึงเรียกว่า โคมล้อ ล้อ หมายถึงรอกที่ใช้สำหรับชักเชือกขึ้นลงเพื่อจุดประทีสบูชา

ส่วนธรรมมาสน์สำหรับเป็นที่นั่งเทศน์ของพระสงฆ์ก็จะประดับตกแต่งด้วยม่าน และห้อยดอกพัน ที่อยู่ใน หับดอก ที่สานโดยแตะไม้ไผ่ประกบกัน ดอกไม้พันดอก หรือ สหสสฺปุปฺผานิ เป็นเครื่องบูชาพระธรรม บูชาพระคาถาจำนวน ๑,๐๐๐ พระคาถา ที่เรียกว่า สหสฺสคาถา ดอกไม้ที่นิยมได้แก่ดอกกาสะลอง ดอกจีหุบ(มณฑา) ดอกสารภี เป็นต้น ดอกไม้เหล่านี้เป็นดอกไม้หอมทำช่วยให้บรรยากาศเหมือนอยู่ในป่าหิมพานต์ที่พระเวสสันดรบำเพ็ญบารมีอยู่ที่นั่น ส่วนด้านข้างก็จะมีการจำลองเป็นป่าหิมพานต์ ปัจจุบันมีการตกแต่งด้วยซุ้มต้นไม้ดอกไม้ใส่กระถางไปประดับตกแต่งให้งดงาม

ด้านข้างพระประธานในวิหารก็จะมีการอ่างน้ำมนต์ โดยใช้น้ำมันงา หรือน้ำมันมะพร้าว ใส่ลงไป โยงสายสิญจน์จากพระประธาน ไปยังธรรมมาสน์ โยงมาพันที่อ่างน้ำมนต์สามรอบ แล้วโยงกลับไปยังธรรมมาสน์ให้พระถือไว้ขณะเทศน์กัณฑ์ต่างๆ เชื่อว่าอานุภาพของการเทศน์ตั้งธรรมหลวงจะทำให้น้ำมนต์นี้ศักดิ์สิทธิ์ ใช้ทาแผล แก้ปวดเคล็ดขัดยอก แก้ผื่นคัน และเชื่อว่าจะทำให้อยู่ยงคงกระพัน

ลำดับพิธีการตั้งธัมม์หลวง

เกี่ยวกับลำดับพิธีการตั้งธัมม์หลวงนี้ ประมวลจากสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ(๒๕๔๒, หน้า ๒๓๕๖) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.มณี พยอมยงค์ (๒๕๔๗, หน้า ๒๖๐) และชูเกียรติ วงศ์รักษ์ (๒๕๓๙, หน้า ๔๔) และพระครูอดุลสีลกิตติ์ (ฐานวุฑโฒ) (สัมภาษณ์, ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)

วันแรก

วันแรก ในการเทศน์ นิยมเทศน์ในวันเดือนยี่เหนือขึ้น ๑๔ ค่ำ เวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น ศรัทธาชาวบ้านจะมาฟังเทศน์คาถาพัน คือเรื่องราวของเวสสันดรชาดกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นภาษาบาลี รวมทั้งหมดมี ๑,๐๐๐ พระคาถา และเทศน์คัมภีร์ต่อไปอีก คือ คัมภีร์มาลัยต้น มาลัยปลายและอานิสงส์เวสสันตระ และธัมม์ไขวิบากเวสสันตระ

คาถาพัน หรือสหัสสคาถา คือคำบาลีที่แต่งด้วยฉันทลักษณ์ต่างๆ กล่าวเรื่องย่อของพระเวสสันดรตั้งแต่ต้นจนจบ

คัมภีร์มาลัยต้น กล่าวถึงพระมาลัยเถร พระสงฆ์ชาวลังกาเป็นพระอรหันต์ เดินทางไปเยี่ยมนรก ได้พบพญายมราชและเห็นสัตว์นรกจำนวนมาก พญายมราชบอกกับพระมาลัยว่า การทำบุญทำทาน การฟังเทศน์ และอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตายนั้น อาจทำให้ผู้ที่อยู่ในนรกพ้นจากความทุกข์ได้

คัมภีร์มาลัยปลาย กล่าวถึงพระมาลัยเดินทางไปสวรรค์ ได้พบพระอริยะเมตไตรเทวบุตร ผู้ซึ่งจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป พระมาลัยถามว่า ทำอย่างไรจะได้ร่วมศาสนากับพระศรีอริยะเมตไตร ได้คำตอบว่า ผู้ที่ได้สดับฟังการเทศมหาชาติตั้งแต่ต้นจนจบจะได้พบกับศาสนาพระศรีอริยะเมตไตรพุทธเจ้า

ธัมม์อานิสงส์เวสสันตระและธัมม์ไขวิบากเวสสันตระ กล่าวถึงอานิสงส์ต่างๆของการฟังเทศน์มหาชาติ รวมถึงการได้อยู่ร่วมพระศาสนาของพระศรีอริยะเมตไตร และชาติต่างๆของพระเวสสันดร นางมัทรี กัณหา ชาลี ชูชก จึงทำให้เกิดเป็นเรื่องราวพระเวสสันดรชาดกชาติสุดท้ายก่อนเกิดเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในยุคปัจจุบัน

วันที่สอง

วันที่สอง รุ่งขึ้นวันเดือนยี่เหนือเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาเช้าตรู่จะเริ่มฟังกัณฑ์ทศพรและกัณฑ์ต่อ ๆ มาตามลำดับ มีเวลาพักตักบาตรตอนเช้าและฉันเพล จากนั้นเทศน์ติดต่อกัน การฟังเทศน์และเป็นเจ้าภาพกัณฑ์เทศน์ สามารถเป็นเจ้าภาพร่วมกันหรือฟังแบบสืบชาตาต่ออายุ ตามปีเกิดของแต่ละคน เมื่อเทศน์กัณฑ์ใด ให้เจ้าภาพของกัณฑ์จุดธูปเทียน (ผางประทีส) เท่าจำนวนพระคาถา เพื่อบูชาคาถาของกัณฑ์นั้น จนครบคาถา ดังนี้

๑. กัณฑ์ทศพร มี ๑๙ คาถา ปีใจ้(ปีชวด)
๒. กัณฑ์หิมพาน มี ๑๓๔ คาถา ปีเป้า(ฉลู)
๓. ทานกัณฑ์ มี ๒๐๙ คาถา ปียี(ปีขาล)
๔. กัณฑ์ประเวสน์ มี ๕๗ คาถา ปีเหม้า(ปีเถาะ)
๕. กัณฑ์ชูชก มี ๗๙ คาถา ปีสี(ปีมะโรง)
๖. กัณฑ์จุลพล มี ๑๕ คาถา ปีใส้(ปีมะเส็ง)
๗. กัณฑ์มหาพน มี ๘๐ คาถา ปีสะง้า(ปีมะเมีย)
๘. กัณฑ์กุมาร มี ๑๐ คาถา ปีเม็ด(ปีมะแม)
๙. กัณฑ์มัทรี มี ๙๐ คาถา ปีสัน(ปีวอก)
๑๐. กัณฑ์สักกบรรพ มี ๔๓ คาถา ปีเร้า(ปีระกา)
๑๑. กัณฑ์มหาราช มี ๖๙ คาถา ปีเส็ด(ปีจอ)
๑๒. กัณฑ์ฉกษัตริย์ มี ๓๙ คาถา ปีใค้(ปีกุน)
๑๓. นครกัณฑ์ มี ๔๘ คาถา ทุกปีเป็นเจ้าภาพร่วมกัน
รวมทั้งหมด ๑,๐๐๐ คาถา

เนื้อเรื่องย่อในแต่ละกัณฑ์

เนื้อเรื่องย่อในแต่ละกัณฑ์ในการเทศน์มหาชาติ ประมวลจากศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.มณี พยอมยงค์ (๒๕๔๗, หน้า ๒๖๑-๒๖๒)

กัณฑ์ที่ ๑ ชื่อกัณฑ์ทศพร พรรณนาตอนที่พระนางผุสดีขอพรจากพระอินทร์ ๑๐ ประการ ก่อนที่จะจุติในโลกมนุษย์เป็นมารดาของพระเวสสันดร

กัณฑ์ที่ ๒ ชื่อกัณฑ์หิมพานต์ พรรณนาถึงจุติปฏิสนธิของพระเวสสันดร จนถึงทรงได้อภิเษกสมรส กับพระนางมัทรี พระธิดาแห่งกษัตริย์แคว้นมัทราช จนกระทั่งถูกเนรเทศออกจากเมืองเข้าสู่ป่าพรรณนา ถึงป่าหิมพานต์

กัณฑ์ที่ ๓ ชื่อทานกัณฑ์ พรรณนาสัตตสดกมหาทาน พระเวสสันดรสั่งเมืองและให้ทานรถเทียมด้วยม้าแก่ผู้ที่มาทูลขอ

กัณฑ์ที่ ๔  ชื่อกัณฑ์วนปเวศน์ พรรณนาถึงสี่กษัตริย์เสด็จถึงนครมาตุลราช พระยาเจตราฐ เจ้าเมืองทูลขอให้ครองสมบัติ พระเวสสันดรไม่ทรงรับ

กัณฑ์ที่ ๕ ชื่อกัณฑ์ชูชก พรรณนาถึงพราหมณ์ชูชกขอทานจนได้นางอมิตตดาลูกสาวเพื่อนเป็นเมีย เมียต้องการคนรับใช้ให้พราหมณ์ชูชกไปขอกัณหาและชาลีมาเป็นคนใช้ พราหมณ์จึงออกเดินทางไปสู่เขาวงกฏ เจอพรานเจตบุตรผู้รักษาทางเข้าป่าหิมพานต์

กัณฑ์ที่ ๖ ชื่อกัณฑ์จุลพน พรานเจตบุตรถูกชูชกหลอกจึงบอกทางไปสู่เขาวงกฏ

กัณฑ์ที่ ๗ ชื่อกัณฑ์มหาพน พรรณนาถึงพราหมณ์ชูชกพบอจุตฤาษี ก็ชี้ทางไปสู่เขาวงกฏ พรรณนาถึงป่าเขาลำเนาไพร

กัณฑ์ที่ ๘ ชื่อกัณฑ์กุมาร ชูชกไปถึงเขาวงกฏเพื่อขอกัณหาชาลี สองกุมารลงไปหลบในสระน้ำ พระเวสสันดรเรียกขึ้นมามอบให้พราหมณ์ชูชก ชูชกทุบตีฉุดกระชากลากสองกุมารไป

กัณฑ์ที่ ๙ ชื่อกัณฑ์มัทรี พระนางมัทรีกลับจากหาผลไม้ในป่าพบสัตว์สามตัวนอนขวางทางจึงไม่พบลูกทั้งสอง พอทราบความจริงก็เป็นลมสลบไป

กัณฑ์ที่ ๑๐ ชื่อกัณฑ์สักกบรรพ์ พระอินทร์แปลงกายมาทูลขอพระนางมัทรีจากพระเวสสันดรแล้วคืนให้ พระเวสสันดรทูลขอพร ๘ ประการจากพระอินทร์

กัณฑ์ที่ ๑๑ ชื่อกัณฑ์มหาราช พราหมณ์ชูชกพา ๒ กุมารหลงทางเข้าสู่เมืองสีพี พระเจ้าสัญชัยทรงไถ่กุมารคืนด้วยสิ่งของอย่างละ ๑๐๐ พราหมณ์ชูชกรับประทานอาหารจนตายพระเจ้าสัญชัยเตรียมไปรับพระเวสสันดรและพระนางมัทรี

กัณฑ์ที่ ๑๒ ชื่อกัณฑ์ฉกษัตริย์ พรรณนาถึงหกกษัตริย์พบกัน เกิดความยินดีจนเศร้าโศกสลบไป พระอินทร์บันดาลฝนโบกขรพรรณตกลงมาประพรมจนฟื้นคืนสติทั้งหมด

กัณฑ์ที่ ๑๓ ชื่อกัณฑ์นครกัณฑ์ (ขณะเทศน์จะมีการโปรยข้าวตอกข้าวสาร สมมติว่าพระอินทร์ได้บันดาลฝนแก้ว รัตนธารา) กัณฑ์สุดท้ายถือเป็นกัณฑ์ชัยมงคลพรรณนาถึงพระเวสสันดร พระนางมัทรี ลาจากเพศพรตฤาษีนิวัติคืนสู่พระนครครองเมืองสีพี พระอินทร์บันดาลห่าฝนสัตตรตนะธาราตกลงทั้งภูมิมณฑลโปรดให้ประชาชีทำบุญทำทานตลอดพระชนม์ชีพ

เมื่อเทศน์จบกัณฑ์หนึ่งๆ จะมีการประโคมฆ้องกลองบูชาบนวิหาร หรือแห่วงปี่พาทย์พื้นเมือง(วงกลองเต่งถิ้ง) และจุดประทัดบอกสัญญาณให้รู้ว่าธรรมจบกัณฑ์หนึ่ง เมื่อผู้คนได้ยินเสียงกลอง จะประนมมือไหว้มาทางวัดกล่าวคำว่า สาธุ

กัณฑ์ที่นิยมฟังเป็นพิเศษและนิยมเสียง

ในมหาเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์นั้น จะมีบางกัณฑ์ที่คนนิยมฟังเป็นพิเศษและนิยมกำหนดเสียงพระนักเทศน์ไว้ คือ

  1. กัณฑ์ชูชก นิยมเสียงใหญ่หรือค่อนข้างใหญ่
  2. กัณฑ์มัทรี นิยมเสียงเล็กคล้ายเสียงผู้หญิง
  3. กัณฑ์กุมาร นิยมเสียงเล็กกลมกล่อมนุ่มนวล
  4. กัณฑ์สักกบรรพ นิยมเสียงคล้ายกับมัทรีหรือกุมาร
  5. กัณฑ์มหาราช นิยมเสียงใหญ่หนักแน่น
  6. กัณฑ์ฉกษัตริย์ นิยมเสียงเด็กส่วนมากเป็นสามเณรเล็กๆเทศน์
  7. นครกัณฑ์ นิยมเสียงใหญ่ทุ้มกังวาน

ในการเทศน์ตามกัณฑ์ที่กล่าวมานี้ ก่อนจะเทศน์พระผู้เทศน์จะใส่กาบเค้า คือแหล่กาพย์ตอนต้นจะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ที่เข้ากับเหตุการณ์ เช่น กาบสิทธารถ กาบพิมพาพิลาป กาบศีลห้า เป็นต้น แต่เสียงใหญ่มักนิยมใส่กาบคำสอน เช่น กาบทศพิธราชธรรม กาบร่ำสงสาร เป็นต้น เฉพาะกัณฑ์ชูชก จะต้องใส่กาบเค้าเรื่องกำเนิดของชูชก เมื่อจบกาบเค้าแล้วจะดำเนินเทศน์ตามเนื้อเรื่องที่มีในคัมภีร์

เมื่อเทศน์จบในกัณฑ์ใดแล้ว จะมีการใส่กาพย์ปลายอีกครั้งหนึ่ง เป็นการสรุปใจความในกัณฑ์นั้น ถ้าเป็นกัณฑ์สุดท้ายคือนครกัณฑ์ มักจะใส่กาบลำดับกัณฑ์ คือสรุปเรื่องราวของมหาเวสสันดรทั้งหมด ตั้งแต่กัณฑ์ทศพรถึงนครกัณฑ์

การฟังเทศน์มหาชาตินี้ มีบางครั้งบางกัณฑ์เช่นกัณฑ์มัทรี กัณฑ์กุมาร กัณฑ์มหาราชมักจะนิมนต์พระที่เทศน์เก่งมาเทศน์ประชันกัน การเทศน์ประชันกันนี้ ให้องค์หนึ่งเทศน์จนจบกัณฑ์แล้วองค์ที่ ๒ จึงจะเทศน์ต่อ ไม่ได้เปลี่ยนกันแหล่สลับกันเหมือนภาคกลาง มีการเทศน์ในกัณฑ์เดียวมากๆเวลาที่จะฟังให้จบในวันหนึ่งคืนหนึ่งก็น้อยลง บางครั้งเมื่อเทศน์ถึงนครกัณฑ์จวนจะจบแล้ว พระอาทิตย์ในวันใหม่ก็จะโผล่พ้นขอบฟ้า ศรัทธาต้องเร่งปิดประตูวิหารเพื่อมิให้แสงสว่างอย่างนี้ก็มี

คำอาราธนาธัมม์พระเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์

คำอาราธนาธัมม์พระเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์ เป็นคำกล่าวอัญเชิญให้พระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนา ในการตั้งธรรมหลวง หรือเทศน์มหาชาติ นักปราชญ์ราชบัณฑิตของล้านนาได้มีการแต่งคำอาราธนาธัมม์ ขึ้นมาโดยเฉพาะมีหลากหลายสำนวน ที่กล่าวไว้ในหนังสือประเพณีเดิมของทวี เขื่อนแก้ว (๒๕๔๑) ได้รวบรวมไว้ ดังนี้

(กัณฑ์ถ้วน ๑ ทัสสพอร-ทศพร)

วันนี้ เปนวันดี เป็นวันมูละสัทธาผู้ข้าทังหลาย
ได้มาฟังธัมมมหาชาติ์กัณฑ์ถ้วนเค้า                 ปางเมื่อขุนอินทาธิราชท้าว์
เจ้าเจื่องจอมสรี                                        หื้อนางราชผุสดีลงมาเกิด
ถวายพอรแก้วเลิสสิบประการ ขอนิมนต์ลูกสิกข์พระภูบาลตนเลิสแล้ว
ขึ้นนั่งธัมมาสน์แก้ว นิมนต์เทสนาธัมม์
ธมฺมํ อนุกมฺปิ มํ ปชํ อาราธนํ กโรมฯ

(กัณฑ์ถ้วน ๒ หิมพานต์)

ทสฺสวรกณฺฑํ ปริปุณฺณํี สุดเสี้ยงไพนึ่งผูก
ผู้ข้าค็มาคิดถูกอยากฟังไพแถม ชื่อว่าหิมพานต์เรยเลิสแล้ว
กัณฑ์ที่ท่านแก้วหื้อทานช้างเผือกแก้วแก่พราหมณ์ไพ ขุนเมืองไทค็มาจาจ่มฟ้อง
เขาค็มาร้องต่อพระราชปิตา ขอนิมนต์ลูกสิกข์พระพุทธาตนสักติ์สวาสตร์
ขึ้นนั่งธัมมาสน์แก้ว แล้วนิมนต์เทสนาธัมม์
ธมฺมํ อนุกมฺปิ มํ ปชํ อาราธนํ กโรมฯ

(กัณฑ์ถ้วน ๓ ทานกัณฑ์)

หิมพานธมฺมเทสนํ ธัมม์หิมพานต์ท่านได้เทสน์สุดเสี้ยงไพแล้ว
บัดนี้ ผู้ข้าอยากฟัง ทานกัณฑ์ไชยเรยร้องไห้แค้นคั่ง
ร้องไห้สั่งสีพี ขอนิมนต์ลูกสิกข์พระมุนีตนสักติ์สวาสตร์
ขึ้นนั่งธัมมาสน์แก้ว แล้วนิมนต์เทสนาธัมม์์
ธมฺมํ อนุกมฺปิ มํ ปชํ อาราธนํ กโรมฯ

(กัณฑ์ถ้วน ๔ วนปเวสน์)

ธมฺมเทสนํ ผูกทานกัณฑ์ ค็ปริปุณณังจนสุดเสี้ยงเขตต์
บัดนี้ค็รอดวนปเวสน์ เขตเขาไกลขั้นด่านดงรี
จตุราท้าวเท่าไพทรงผนวชบวชเปนรสีี อยู่ในคีรีป่าไม้์
โขงเขตใกล้ที่พระปัณณราชลาสา ขอนิมนต์ลูกสิกข์พระพุทธาตนสักติ์สวาสตร์
ขึ้นนั่งธัมมาสน์ แล้วนิมนต์เทสนาธัมม์์์์
ธมฺมํ อนุกมฺปิ มํ ปชํ อาราธนํ กโรมฯ

(กัณฑ์ถ้วน ๕ ชูชก)

ธมฺมเทสนํ ปริปุณฺณํ์ ค็พากันฟังจนเสี้ยงเขตต์์
คือธัมม์วนปเวสน์ดังท่านเทสนา์ บัดนี้ค็มารอดชูชกชยาเรยี
เถ้าชราเชยชุ่มีี มาได้เมียน้อยหนุ่มสาวจี้์
บึดนึ่งแต่งมาตริให้อ้อนมีหั้นพร่ำพร้อม ขอนิมนต์ลูกสิกข์พระภูบาลตนเลิสแล้ว
ขึ้นนั่งบนธัมมาสน์แก้ว แล้วนิมนต์เทสนาธัมม์์์์์
ธมฺมํ อนุกมฺปิ มํ ปชํ อาราธนํ กโรมฯ

(กัณฑ์ถ้วน ๖ จุลพน)

ชูชกชยกณฺฑํ นิฎฺฐิตํ สุดเสี้ยงไพบ่เสส
บัดนี้ค็มารอดห้องเหตุ จุลพนเดินด่าน
ของพรานเจตบุตรบอกหนทาง ขอนิมนต์ลูกสิกข์พระภูบาลตนเลิสแล้ว
ขึ้นนั่งบนธัมมาสน์แก้ว นิมนต์เทสนาธัมม์
ธมฺมํ อนุกมฺปิ มํ ปชํ อาราธนํ กโรมฯ

(กัณฑ์ถ้วน ๗ มหาพน)

จุลวนกณฺฑํ นิฎฺฐิตํ สุดเสี้ยงไพบ่เสส
บัดนี้ค็มารอดห้องเหตุ มหาพนรังสีใสบ่เส้า
เจ้าอัจจุตรสีเจ้าลำดับป่าไม้หื้อปู่พราหมณ์ฟัง ขอนิมนต์ลูกสิกข์พระพุทธังตนผ่านแผ้ว
ขึ้นนั่งธัมมาสน์แก้ว แล้วเทสนาธัมม์
ธมฺมํ อนุกมฺปิ มํ ปชํ อาราธนํ กโรมฯ

(กัณฑ์ถ้วน ๘ กุมมารบัรพ์-กัณฑ์กุมาร)

มหาวนํ นิฎฺฐิตํ ค็สุดเสี้ยงบ่เสส
บัดนี้ค็มารอดห้องเหตุ กุมมารบัรพ์ชัยเรย
กัณฑ์นี้เนตต์ค็มาหน้าสังเวชแท้กัณหาชาลี อันพ่อพระรสีหื้อทานแก่พราหมณาผู้เถ้า
แม่มทรีเจ้าไพป่าแต่เช้ายังบ่ทันมา ชาลีกัณหาขอเทวดานำเอาข่าวสารไพบอก
แก่ออกไธ้แม่เทวี คันแม่มทรียังรักลูกเต้า
ขอหื้อแม่ออกเจ้ารีบมาเรว แสรโสกาเจ็บแสบไหม้
ร้องร่ำไห้อยู่วอยๆ พูดงดอยแม่น้ำเหวหาดห้วย
เหมือนดั่งจักม้างม้วยเสียคู่แดนดง ขอนิมนต์ลูกสิกข์พระทัสสพลตนเลิสแล้ว
ขึ้นนั่งธัมมาสน์แก้ว นิมนต์เทสนาธัมม์ อย่าไพละกาพย์เค้ากาพย์ปลาย
หมู่สัทธาผู้ข้าทังหลาย ต่างค็ใคร่ฟังเหมือนกันทั่วหน้า
ทุกคนมีจิตต์แก่กล้า อยากใคร่ฟังกุมมารบัรพ์
ระบำใดดีค็ขอจิ่มเจ้าที่ไหว้สัก ๒-๓-๔ บั้ง กันอิดหิวไหนค็ค่อยยอบยั้งเทสนาไพนึ่งลา
ธมฺมํ อนุกมฺปิ มํ ปชํ อาราธนํ กโรมฯ

(กัณฑ์ถ้วน ๙ กัณฑ์มัทรี (อ่าน “มะที”)

กุมารปพฺพํ นิฎฺฐิตํ ค็สุดเสี้ยงไพแท้ดีหลี
บัดนี้ค็มารอดกัณฑ์มทรีกัณฑ์ถ้วนเก้า อันนางหนุ่มเหน้าแม่ค็มาเวทนาหา
สองบุตตาพี่น้อง อันอยู่ห้องกลางป่าดงไพร
พระนางบ่รู้ว่าลูกเต้าอยู่ไหน ไพเซาะหาในไพรแห่งห้อง
กลางเทศท้องหลายที่หลายทาง พระนางยิ่งมีอาธวา
มีความโสกาโสกเส้า เพราะบ่หันลูกเต้าหน่อโอรสา
นางค็มรณาเจียรจาก มรนาตติงตนตาย
เสี้ยงลมหายใจไพน้อยนึ่งแล้ว ได้ยินเสียงผัวตนเรียกร้องอยู่แจ้วๆ
นางหน่อแก้วได้สติชื่นตื่นขึ้นมา ขอนิมนต์ลูกศิษย์พระพุทธาตนผ่านแผ้ว
ขึ้นนั่งธัมมมาสแก้วแล้วเทสนาธัมม์ ระบำใดดี ค็ขอระบำธัมม์จิ่มเจ้าที่ไหว้
ที่ท่านได้เรียนไว้และชนาญมา บัดนี้ผู้ข้าน้อยหากแข้งขับแข้งจำ
พอขอระบำธัมม์สัก ๒-๓-๔ บั้ง อิดหิวไหนค็ค่อยยอบยั้งเทสนาธัมมไพนึ่งลา
ธมฺมํ อนุกมฺปิ มํ ปชํ อาราธนํ กโรมฯ

(กัณฑ์ถ้วน ๑๐ สักกบัรพ์)

มทฺทิปพฺพํ นิฎฺฐิตํ ค็สุดเสี้ยงไพแล้ว
ซ้ำมีใจผ่องแผ้วอยากฟังสักกบัรพ์เรย การกะทำบุญของเวสสันตระ
ค็บ่เบ่นหน้าไพเฉย ได้รับคำชมเชยบ่ขาด
ปางเมื่อขุนอินทาเสด็จจากฟากฟ้า มาขอเอาหน่อหล้าชื่อมัททีรา
ขอนิมนต์ลูกสิกข์พระพุทธาตนผ่านแผ้ว ขึ้นนั่งแท่นแก้วแล้วนิมนต์เทสนาธัมม์
แล้วจิ่งขอระบำกาบส้อย หื้อสัทธาข้าม่อนน้อย
ได้เหงี่ยหูฟังนึ่งรา ธมฺมํ อนุกมฺมปิ มํ ปชํ อาราธนํ กโรมฯ

(กัณฑ์ถ้วน ๑๑ มหาราช)

สักกบัรพ์ระบำได้รับการฟังบ่ขาด บัดนี้ค็มารอดมหาราชกัณฑ์ไชยกัณฑ์ใหญ่กว้าง
ปางเมื่อพราหมณ์นำลูกพระเจ้าช้างพรากเดินดง เทวดาเจ้าค็มาบันดลหื้อพราหมณ์หลง
เข้าสู่โขงเทสท้องเขตต์พระนคอรไชย ในคืนนั้นท้าวปรมสัญชัยค็มายังฝันหัน
ปูนอัสสจัรย์แท้แลฝันว่ายังมีชายผู้หนึ่งแท้แก่ดูดำ มันมีมือสองหัตถังถือประทุมมัง
ดอกบัวอันนั้นค็ฟุ้งซ่านอุฬาร ขอนิมนต์ลูกสิกข์พระพุทธังตนสักติสวาสตร์
ขึ้นนั่งธัมมาสน์แล้วเทสนาธัมม์ ขอนิมนต์ลูกสิกข์พระพุทธังตนผ่านเผ้า
ขอให้ทังกาพย์ปลายแลกาพย์เค้า ธัมม์พระเจ้าสุดแล้วแต่เทสนา
ฉันใดจักได้สว่างโสกา ขอไขกรียาหื้อมันจนแห้ง
เพื้อหื้อมันแจ้งแก่มูลสัทธาแลนา ธมฺมํ อนุกมฺมปิ มํ ปชํ อาราธนํ กโรมฯ

(กัณฑ์ถ้วน ๑๒ ฉขัตติ-ฉกษัตริย์)

มหาราชปพฺพํ นิฎฺฐิตํ สุดเสี้ยงไพแล้วบ่เสส
บัดนี้ค็มารอดห้องเหตุฉขัติยรุ่งเรืองไรไสบ่เส้า ปางเมื่อหกท้าวเจ้าเข้ามาล้มกองกัน
ในหิมวันต์ป่าไม้ ฝูงหมู่เจ้าค็เข้ามาล้มที่ใกล้แห่งพระปัณณสาลา
ขอนิมนต์ลูกสิกข์พระพุทธาตนองอาจ ขึ้นนั่งธัมมมาสน์แก้วแล้วเทสนาธัมม์
ระบำใดดีขอระบำธัมม์จิ่มเจ้าที่ไหว้ สัก ๑-๒-๓-๔-๕-๖-๗-๘-๙ บั้ง
คันอิดหิวไหนค็ค่อยยั้งเทสนาธัมม์ ขอจะไพว่าผู้ข้าแข้งขับแข้งจำ
พอขอระบำธัมมกาพย์สร้อย พอหื้อสัทธาข้าม่อนน้อย
ได้เหงี่ยหูฟังนึ่ง ธมฺมํ อนุกมฺปิ มํ ปชํ อาราธนํ กโรมฯ

(กัณฑ์ถ้วน ๑๓ นครกัณฑ์)

ฉขตฺติยปพฺพํ นิฎฺฐิตํ ค็สุดเสี้ยงไพบ่เสส
บัดนี้ค็มารอดห้องเหตุนครกัณฑัง คือนครกัณฑ์สุดส้อยหล้า
ปางเมื่อพระเจ้าฟ้าสิกข์ใหม่แล้วขี่ช้างงาแก้วมาเมือง ห่าฝนเรียงแถวถั่ง
อินทาร้อนที่นั่งจักหื้อห่าฝนแก้วฝนฟ้าหลั่งลงเมือง ตกลงมานันเนืองดั่งจะจดจะจอด
ดูท่างท้าวราชอยู่ส้างเล่าเปนทาน ขอลูกสิกข์พระภูบาลตนผ่านแผ้ว
กัณฑ์เทสน์ธัมม์จบแล้วขอเพิ่มเติมกาพย์ปลาย ขอชักนิยายตั้งแต่ปลายรอดเค้า
พอหื้อสัทธายิงชายหนุ่มเถ้าผู้นิดนั่งถ้าอยู่ดาฟัง ขอไขตามระบำเอาจดหมดขีด
พร้อมทั้งธัมมเทสนา ตามที่ท่านได้เล่าเรียนมานึ่งเรา
ธมฺมํ อนุกมฺปิ มํ ปชํ อาราธนํ กโรมฯ