ประวัติความเป็นมา

ประเพณีทานก๋วยสลาก

ในสมัยพุทธกาล ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ได้มีนางกุมารีผู้หนึ่งได้อุ้มลูกชายวิ่งหนีนางยักขิณีผู้มีเวรทำลายครรภ์กัน (แท้งบุตรต่อกัน) หลายภพหลายชาติ ติดตามมาจะทำร้ายลูกของนาง นางกุมารีได้พาลูกวิ่งหนีเข้าไปในพระเชตะวันวิหาร ขณะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ นางเอาลูกน้อยวางแทบพระบาทแล้วไหว้สาว่า “ข้าแด่พระองค์ผู้เจริญ ของทรงโปรดเป็นที่พึ่งแก่ลูกชายของข้าเจ้าหน่อยเต๊อะว่าอั้น” เมื่อนางยักขิณีติดตามมา พระพุทธเจ้าจึงได้เทศนาการอันจองเวรซึ่งกันและกัน จะไม่มีวันอันจบสิ้นกันเลย เวรย่อมไม่ระงับด้วยเวร เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร พระก็เทศนาให้นางทั้งสองเห็นผิดชั่วดี แล้วก็ให้นางรับศีล 5 ทำให้นางยักขิณีได้ดวงตาเห็นธรรม

ต่อมานางยักขิณีได้เป็นเพื่อนกับนางกุมารี และนางกุมารีก็ได้บำรุงเลี้ยงดูเป็นอย่างดี นางยักขิณีสำนึกในบุญคุณ จึงได้ใช้วิทยาคุณในการพยากรณ์ดินฟ้าอากาศเพื่อการทำนาแก่นางกุมารีว่าปีใดฝนดีน้ำมากให้ทำนาในที่ดอน ปีใดที่ฝนแล้งน้ำแห้ง ให้ทำนาในที่ลุ่ม ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่วนชาวบ้านมักประสบปัญหาข้าวกล้าเสียหาย พอทราบเรื่องว่านางกุมารีเก็บเกี่ยวได้ผลดี จึงขอร้องให้นางยักขิณีช่วยเหลือ

จนกระทั่งผลผลิตข้าวอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ชาวบ้านจึงพากันนำเครื่องอุปโภคบริโภคมามอบให้แก่นางยักขิณีมากมาย นางจึงนำมาทำเป็นสลากภัตขึ้นถึง 8 แห่ง โดยให้พระสงฆ์ได้ทำการจับสลาก ด้วยหลักของอุปโลกนกรรม คือ ของถวายมีทั้งของมีราคามาก ราคาน้อยพระสงฆ์องค์ใดได้ของมีค่าน้อยก็ไม่เสียใจ ให้ถือว่าเป็นโชควาสนาของตน การถวายสลากภัตนี้นับเป็นครั้งแรกแห่งประเพณีทำบุญทานสลากในพระพุทธศาสนา (สิงห์แก้ว มโนเพ็ชร, ๒๕๓๘, หน้า ๔๖)