Tha Thai Version Eng Version Eng  
     
˹á лླբͧҹ ླҹ ҹླҹ 㹾Ըաҹ ػФس ԧǢͧ
 
 
 
 
แบบสอบถามความคิดเห็น
 
Last update: 07/19/2012
 
 
สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
เว็บไซต์และฐานข้อมูลประเพณีล้านนา โดย
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
และ
สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อนุญาตให้ใช้ได้ตาม
สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ
แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง
 
by
ประเพณีปีใหม่เมือง
วันสังขานต์ล่อง
             วันสังขานต์ล่อง หรือวันสังขารล่อง หรือวันสังกรานต์ล่อง เป็นวันแรกของกิจกรรมปีใหม่ "สังขานต์" คือคำเดียวกับ "สงกรานต์" ในภาษาสันสกฤตซึ่งแปลว่า "ก้าวล่วงแล้ว" วันสังขานต์ล่องในภาษาล้านนา ตรงกับภาคกลาง คือวันมหาสงกรานต์ ถือเป็นวันสิ้นสุดของปีเก่า (การออก เสียง กร คนล้านนาจะออกเสียงเป็น ข เช่น คำว่า โกรธ ออกเสียงเป็น โขด คำว่า ชาวกรอม ออกเสียงเป็น ชาวขอม ดังนั้น"สงกรานต์" จึงออกเสียงเป็น "สังขานต์" ) ในหนังสือประเพณีสิบสองเดือนล้านนาให้ความหมายว่า สังกรานต์ หมายถึงวันเดือนปีที่ล่วงไป (มณี พยอมยงค์, ๒๕๔๓, หน้า ๕๖) ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (๒๕๔๒, หน้า ๖๗๒๔) กล่าวถึงวันสังกรานต์ล่อง คือวันที่พระอาทิตย์โคจรไปสุดราศีมีน จะเข้าสู่ราศีเมษ

             วันสังขานต์ล่องในแต่ละปีอาจไม่ตรงกันทุกปี เช่น พ.ศ.๒๕๕๑ ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ ตรงกับวันที่ ๑๔ เมษายน (ปฏิทินล้านนา ฉบับวัดธาตุคำ) แต่ปัจจุบันนิยมยึดถือตามประกาศวันหยุดสงกรานต์ของทางราชการ ถือเอาวันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปีเป็นวันสังขานต์ล่อง (ดุสิต ชวชาติ. ประธานชมรมปักขะทืนล้านนา, สัมภาษณ์, ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)
ประเพณีปีใหม่เมือง
            วันนี้คนล้านนาจะตื่นแต่เช้าตรู่ จุดสะโปก หรือประทัด ยิงปืน เพื่อขับไล่เสนียด จัญไร ไหลล่องไปกับปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์ ซึ่งจะแบบรับเอาสิ่งที่ไม่ดีไม่งามในชีวิตไปเททิ้งที่มหาสมุทร การไล่สังขานต์ด้วยเสียงประทัดหรือสะโปกที่ดังแต่เช้าตรู่ จึงทำให้ทุกคนตื่นขึ้นมาเพื่อทำความสะอาดบ้านเรือน ซักที่นอน หมอนมุ้ง แล้วอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาดผ่องใส
เด็กๆมักจะถูกหลอกให้ไปซักผ้าที่แม่น้ำแต่เช้าตรู่ เพราะจะได้เห็นสังขานต์ล่องที่แม่น้ำ คนโบราณได้สมมุติตัวสังขานต์เป็นคนแก่สองคน คือปู่สังขานต์และย่าสังขานต์ถ่อแพไหลมาตามแม่น้ำ(บัวผัน แสงงาม. ชาวบ้านหมู่ 6 ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, สัมภาษณ์, ๑๘ มกราคม ๒๕๕๒) บ้างก็ว่าปู่สังขานต์และย่าสังขานต์หาบกระบุงตะกร้า เดินมาตามถนน เพื่อมารอรับเอา
เสนียดจัญไรทั้งหลาย ไปขว้างทิ้ง บ้างก็ว่าปู่สังขานต์ย่าสังขานต์ ห่มผ่าสีแดงล่องแพมาตามแม่น้ำ นำพาสิ่งไม่ดีเป็นอัปมงคลมาด้วย จึงต้องขับไล่ด้วยเสียงดังของประทัดเร่งเร้า ให้ผ่านไปโดยเร็ว วันนี้คนโบราณจึงจะเก็บกวาด ทำความสะอาดบ้านเรือน ซักผ้า เผาเศษขยะใบไม้ให้สิ่งหมักหมมทั้งหลายหมดสิ้น ไปพร้อมๆกับสังขานต์ที่ล่องไป (น้อย ปราใจประเสริฐ. ชาวบ้านแม่อีด ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, สัมภาษณ์, ๑๘ มกราคม ๒๕๕๒) ประเพณีปีใหม่เมือง
ประเพณีปีใหม่เมือง
            สิ่งสมมุติว่าเป็นปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์นั้น แท้จริงคือ ตัวตนของเราที่กำลังไหลล่องไป ตามวัยของสังขาร มีอายุที่มากขึ้น จึงต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ให้ดีนั้น จะต้องขว้างทิ้งเสียสิ่งเศร้าหมอง ทีมีอยู่ในกาย วาจา และใจนั่นเอง สิ่งสำคัญในวันนี้คือการ "ดำหัว" โดยน้ำขมิ้นส้มปล่อย เพื่อชำระล้างสิ่งอัปมงคล และในวันนี้ มีการทำพิธีลอยสังขานต์ที่แม่น้ำใหญ่ โดยการทำแพต้นกล้วย ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ ช่อ ตุง อาหารคาวหวาน แห่ด้วยฆ้องกลองอย่างครึกครื้น
ในการทำพิธี มีการปั้นข้าวแป้งลูบไล้ตามตัว เพื่อขจัดเสนียด จัญไร จากนั้นนำแป้งมาปั้นเป็นรูปตัวเปิ้ง หรือนักษัตรตามปีเกิดของตนเอง อธิษฐานและใส่ลงในแพ  และปล่อยให้แพไหลไปตามแม่น้ำ มีปู่อาจารย์เป็นผู้ทำพิธี ในปัจจุบัน พิธีลอยสังขานต์ ยังคงปฏิบัติกันที่บ้านยางหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น (เปี้ย เก่งการทำ. ปู่อาจารย์วัดยางหลวง ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่, สัมภาษณ์ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๑)
 
            ในวันนี้ยังมีพิธีสำคัญ คือ การแห่พระพุทธสิหิงค์ พระคู่บ้านคู่เมือง ให้ประชาชนสรงน้ำและสักการบูชา เพื่อความเป็นศิริมงคลเริ่มต้นปีใหม่ และวันนี้ยังเป็นวันเริ่มต้นของการรดน้ำปีใหม่อย่างแท้จริง ชาวล้านนาใช้สะลุงใส่น้ำสำหรับรดน้ำปีใหม่ โดยรดน้ำที่หัวไหล่ พร้อมกับยิ้มแย้มแจ่มใสให้แก่กัน ส่วนใหญ่จะให้พรไปด้วยว่า โชคดีปีใหม่เน้อเจ้า (ครับ)
 
 
ดำหัววันสังขานต์ล่อง
            การดำหัววันสังขานต์ล่อง เป็นกิจกรรมที่เป็นจารีตประเพณีที่ทำกันมาแต่อดีต การดำหัว ในความหมายโดยทั่วไปของชาวล้านนา หมายถึงการสระผม แต่การดำหัววันสังขานต์ล่อง หมายถึงการชำระล้างสิ่งอัปมงคลในชีวิตด้วยน้ำขมิ้นส้มปล่อย การดำหัววันสังขานต์ล่อง จะต้องหันหน้าไปตามทิศที่กำหนดไว้ในปักทืน หรือหนังสือปีใหม่เมือง ซึ่งในแต่ละปีจะไม่ตรงกัน ตัวอย่างเช่น ปักขะทืนล้านนา
ปีพ.ศ.๒๕๕๒ ฉบับวัดธาตุคำ จังหวัดเชียงใหม่ คำนวณโดยพระครูอดุลสีลกิตติ์ กล่าวถึงการดำหัววันสังขานต์ไว้ว่า             “ในวันสังขานต์ไปนั้นจุงหื้อพากันสระเกล้าดำหัว ยังแม่น้ำ ทางไคว่ เค้าไม้ใหญ่นอกบ้านชายคา อว่ายหน้าไปสู่ทิสะหนใต้ แล้วอาบน้ำส้มปล่อยดำหัว อาบองค์สรงเกศเกล้า ด้วยมนต์วิเศษสรูปเภท เปนคาถาว่า สัพพะทุกขา สัพพะยา สัพพะอันตรายา สัพพะทุนนิมิตตา สัพพะคะหา สัพพะอุปัทวา วินาสันตุ” แปลได้ว่า “ในวันสังขานต์ล่องให้พากันสระเกล้าดำหัวที่แม่น้ำ ทางสี่แยก
หรือต้นไม้ใหญ่ที่อยู่นอกชายคาบ้าน และให้หันหน้าไปทิศใต้ แล้วนำน้ำขมิ้นส้มปล่อยสระผม และอาบด้วยน้ำขมิ้นส้มปล่อย เสกน้ำส้มปล่อยด้วยคาถา สัพพะทุกขา สัพพะยา...”  (พระครูอดุลย์สีลกิตติ์ เจ้าอาวาสวัดธาตุคำ  อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่,  สัมภาษณ์, ๔ พฤศจิกายน, ๒๕๕๑)
 
            ผู้นำในการดำหัววันสังขานต์ล่องนี้ มีหัวหน้าครอบครัว เช่น พ่ออุ้ยแม่อุ้ย (ปู่ย่าตายาย)หรือพ่อบ้าน จะเป็นผู้เสกฝักส้มปล่อย ด้วยคาถา "โอม สิริมา มหาสิริมา เตชะยะสะลาภา อายุวัณณา ภะวันตุเม" (สนั่น ธรรมธิ, ๒๕๔๘) แล้วนำส้มปล่อยไปแช่น้ำ และเสกด้วยคาถามนต์น้ำส้มปล่อย เช่น "สัพเคราะห์ สัพพะภัย สัพพะอุบาทว์ สัพพะพายาธิแลกังวลอนตรายทังหลาย ขอหื้อตกไปพร้อมกับสังขานต์ เคราะห์ทางหลังอย่ามาถ้า เคราะห์ทางหน้าอย่ามาหา พุทธังถอด ธัมมังถอด สังฆังถอด หูรู หูรู สวาหาย" (มณี พยอมยงค์, ๒๕๔๓, หน้า ๗๙) หลังจากนั้นเอาน้ำส้มปล่อยมาลูบศีรษะตนเองก่อน แล้วจึงลูบศีรษะสมาชิกในครอบครัว และมักนำน้ำขมิ้นส้มปล่อยเช็ดล้างกาลกิณีที่ร่างกาย เช่น ในหนังสือปีใหม่เมืองล้านนา พ.ศ.๒๕๕๒ กล่าวว่า กาลกิณีอยู่ที่ปาก จัญไรอยู่ที่บ่า จึงให้นำน้ำขมิ้นส้มปล่อยมาเช็ดปากและบ่า จึงจะเป็นศิริมงคล (พระครูอดุลสีลกิตติ์, ๒๕๕๑, หน้า ๔-๕)
 
 
ทิศที่ควรหันหน้าในการดำหัววันสังขานต์ล่องตามตำราโบราณ
            มีดังนี้ (โฮงเฮียน.สืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๑๓)
 

สังกรานต์ล่องวันอาทิตย์    ดำหัวอว่ายหน้าไปทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
สังกรานต์ล่องวันจันทร์   ดำหัวอว่ายหน้าไปทิศตะวันตก
สังกรานต์ล่องวันอังคาร   ดำหัวอว่ายหน้าไปทิศใต้
สังกรานต์ล่องวันพุธ          ดำหัวอว่ายหน้าไปทิศใต้
สังกรานต์ล่องพฤหัสบดี    ดำหัวอว่ายหน้าไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
สังกรานต์ล่องวันศุกร์        ดำหัวอว่ายหน้าไปทิศตะวันออก
สังกรานต์ล่องวันเสาร์       ดำหัวอว่ายหน้าไปทิศตะวันตกเฉียงใต้

 
            ในวันนี้ ตามประเพณีแต่โบราณมานั้น เจ้าผู้ครองนคร หรือแม้แต่ผู้ที่เป็นกษัตริย์ที่ปกครองล้านนา ก็จะต้องสรงน้ำตามทิศที่โหรหลวงคำนวณไว้ และลงไปทำพิธีลอยเคราะห์ในแม่น้ำ ดังเช่นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในอดีต ประกอบพิธีลอยเคราะห์และดำหัวที่แม่น้ำปิง ท่าวัดเกตุการาม เดิมจึงชื่อว่าวัดสระเกษ (พระครูอดูลย์ศิลกิตติ์. เจ้าอาวาสวัดธาตุคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่, สัมภาษณ์, ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑; มณี พยอมยงค์, ๒๕๔๓, หน้า ๖๖)

            การดำหัวแบบโบราณอีกวิธีหนึ่ง ต้องทำสะตวง มีดอกไม้ธูปเทียน อาหาร ข้าวหนม หมากพลู เหมี้ยง บุหรี่ อย่างละ ๔ ชิ้น และนำเศษไม้ รูปปั้นอมนุษย์ รูปปั้นสัตว์ตามปีเกิดของตน ดังนี้

 

   
ปีเกิด เศษไม้ รูปปั้น
ปีไจ้(ชวด) โพธ์ ผีอารักษ์ อีแร้ง กวาง
ปีเป้า(ฉลู) บุนนาค สุนัข
ปียี(ขาล) ไผ่ ผีอารักษ์ งู
ปีเหม้า(เถาะ) หว้า ไก่ งู
ปีสี(มะโรง) ต้นข้าว ไก่  หมู
ปีไส้(มะเส็ง) หาด ผีอารักษ์
ปีสะง้า(มะเมีย) แค สุนัข
ปีเม็ด(มะแม) แค สุนัข
ปีสัน(วอก) กระเซา สุนัข
ปีเร้า(ระกา) ก่อ เสือโคร่ง
ปีเส็ด(จอ) ยอ เสือแผ้ว
ปีไก๊(กุน) กอบัว ยักษ์
     

            เมื่อเตรียมสะตวง เครื่อพลีกรรม และรูปปั้นเรียบร้อยแล้ว ก็จะเริ่มประกอบพิธี โดยหันหน้าไปตามทิศที่กำหนดไว้ ในหนังสือปีใหม่เมือง และกล่าวคำโอกาสว่า

            "ดูราเจ้ากู เราอยู่จิ่มกันบ่ได้ ภัยยะอันใหญ่ จักเกิดมีมาชะแล ขอเจ้ากูจุ่งมารับเอาเครื่องสักการบูชามวลฝูงนี้ แล้วจุ่งมาพิทักษ์รักษาผู้ข้าหื้ออยู่สุขสวัสดี นั้นจุ่งจักมีเที่ยงแท้ดีหลีเทอะ"

             ว่าจบ ให้ตัดเล็บ ตัดเศษผมใส่ในสะตวง แล้วเสกน้ำส้มปล่อยด้วยคาถา

            "โอม สิริมา มหาสิริมา เตชะยะสะลาภา อายุวัณณา ภะวันตุเม"

             หลังจากนั้นสระเกล้าดำหัวด้วยน้ำส้มปล่อยตกลงในสะตวง จึงนุ่งผ้าใหม่และทัดด้วยดอกไม้นามปี หรือพญาดอก แล้วนำสะตวงยกขึ้นเวียนรอบศีรษะ ๓ รอบ ลอยสะตวงลงแม่น้ำ หรือไว้ในที่อันควร เช่น ต้นไม้ใหญ่ ทางสี่แยก เป็นต้น ให้หันหลังกลับบ้านทันที ห้ามหันหลังมาดูสะตวง (สนั่น ธรรมธิ ,๒๕๔๘)
 
ทัดดอกไม้นามปีและนุ่งผ้าใหม่
            หลังจากพิธีดำหัวเสร็จแล้ว จะต้องแต่งเนื้อแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่ หากเป็นผู้หญิงในวันนั้นก็จะทัดดอกไม้ อันเป็นนามปีหรือเป็นพญาดอกไม้ของปีนั้นๆด้วย

เช่นในปีพ.ศ.๒๕๕๑ ได้แก่ดอกแก้ว หรือดอกพิกุล เป็นพญาดอกไม้นามปี ควรทัดด้วยดอกแก้ว ปีพ.ศ.๒๕๕๒ ดอกเก็ดถะหวา (ดอกซ้อน) เป็นพญาดอกไม้นามปี ควรทัดดอกเก็ดถะหวา การทัดดอกไม้อาจจะนำมาประดับมวยผม หรือแซมผม (พระครูอดุลย์สีลกิตติ์. เจ้าอาวาสวัดธาตุคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่, สัมภาษณ์, ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)
             การคำนวณ หาดอกไม้นามปีให้เอาตัวเลขจุลศักราชปีใหม่ตั้ง หารด้วย ๘ ได้เศษเท่าไหร่ ทำนายตามนี้

เศษ ๑     ดอกเอื้อง
เศษ ๒   ดอกแก้ว
เศษ ๓    ดอกซ้อน (มะลิ,เก็ดถะหวา)
เศษ ๔    ดอกประดู่
เศษ ๕    ดอกบัว
เศษ ๖    ดอกส้มสุก (อโศก)
เศษ ๗    ดอกบุญนาค
เศษ ๘    ดอกก๋าสะลอง (ดอกปีบ)
เศษ ๐     ดอกลิลา (ซ่อนกลิ่น)

ตัวอย่างเช่น ใน พ.ศ.๒๕๕๒ ลบด้วย ๑๑๘๒ คือจุลศักราศ ๑๓๗๐ หาร ด้วย ๘ ได้เศษ .๒๕ ปัดขึ้นเป็นเศษ ๓ ดอกไม้นามปี ได้แก่ ดอกซ้อน หรือดอกเก็ดถะหวา (เกริก อัครชิโนเรศ และคณะ, ๒๕๔๖, หน้า ๗๐ -๗๑)
 
พิธีลอยสังขานต์ (ล่องสังขานต์แบบอำเภอแม่แจ่ม)
            ในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีการทำพิธีล่องสังขานต์ในลำน้ำแม่แจ่ม (ฝอยทอง สมวถา, ๒๕๔๖, หน้า ๘๒) ปัจจุบันเหลือเพียงหมู่บ้านยางหลวงที่ยังคงยึดถือปฏิบัติพิธีนี้อยู่ พิธีนี้ทำกันในช่วงบ่าย   เริ่มจากชาวบ้านช่วยกันทำแพต้นกล้วย ให้เป็นสะตวงใหญ่วางบนแพ  ตกแต่งด้วยดอกไม้ ช่อ หลากสี ในสะตวงใส่เครื่องพลีกรรม ได้แก่ ข้าวหนม อาหาร ผลไม้ มะพร้าว กล้วย อ้อย ใส่ควัก (กระทง) และข้าวแป้งสำหรับใช้ปั้นเป็นรูปนักษัตประจำปีเกิด
 
            เมื่อทำสะตวงเสร็จแล้ว ทุกคนช่วยกันแบกเป็นขบวนแห่หามแพสังขานต์ด้วยฆ้องกลองไปยังลำน้ำแม่แจ่ม วางแพไว้ริมฝั่งน้ำ ปู่อาจารย์เป็นผู้ประกอบพิธี และกล่าวเสกข้าวแป้งด้วยคาถา "ยะถาวารีวาโห ปุโรสัพพะการัง ยักขียันติ เอวะเมตัง ยักขีโต หูมหังหูมเห เถถะเมหัง ขิปัง"


จากนั้นให้ทุกคนปั้นแป้งเป็นก้อน เอาเช็ดตามหน้าตา เนื้อตัว แขนขา โดยเชื่อกันว่าเป็นการเช็ดเอาเสนียดจัญไร เคราะห์ภัยต่างๆ สิ่งชั่วร้ายที่มีอยู่ในเนื้อตัวออกไป เสร็จแล้วปั้นแป้งเป็นสัตว์ประจำปีเกิด นำไปใส่ในสะตวง พ่ออาจารย์ผู้ประกอบพิธี ก็จะกล่าวคำโอกาส ดังนี้
            "โภนโต ดูราปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์ วันนี้ก็เปนวันดี ตามวาระปีใหม่มาครบรอบปี ตามประเวณีมาแต่ก่อน เพื่อบ่หื้อส่อนหายสูญ ถึงวันที่ ๑๓ เมษายนก็เปนวันสังขานต์ล่อง ผู้ข้าทั้งหลายก็ได้ตกแต่งเครื่องสักการบูชา มีน้ำขมิ้นส้มปล่อยและโภชนะอาหาร มาถวายเพื่อส่งสังขานต์ปีเก่า เปนเคราะห์และนามสิ่งที่บ่ดีบ่งาม ได้กระทำไว้บ่ถูก ก็ขอหื้อตกไปตามแม่น้ำทางหลวง เคราะห์พันพวงก็ขอหื้อไปตามปู่สังขานต์ย่าสังขานต์เสียในวันนี้ ปีใหม่วันใหม่เดือนใหม่ ที่จักมาภายหน้า ขอหื้อผู้ข้าทั้งหลายจุ่งจำเริญ อายุวัณณะ สุขะ พละ และโชคชัยลาภะ ริมาค้าขึ้น กระทำสวนไร่นาก็ขอหื้อได้ข้าว มีลูกมีเต้าหลานเหลนก็ขอหื้อสอนง่ายดั่งใจ ขอหื้อฟ้าฝนตกมาตามฤดูกาล ยุต่างกินทานอย่าได้ขาดจิ่มเทอะ"
หลังจากนั้น ทุกคนนำน้ำขมิ้นส้มปล่อยมาสระเกล้าดำหัวลงในแพสังขานต์ และนำไปลอยลงน้ำแม่แจ่ม เพื่อให้เคราะห์ภัยต่างๆ ลอยไปกับสายน้ำพร้อมกับปีเก่า (เปี้ย เก่งการทำ. ปู่อาจารย์วัดยางหลวง ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่, สัมภาษณ์, ๑๕ ธันวาคม, ๒๕๕๑)
 
กิจกรรมอื่นๆ ในวันสังขานต์ล่อง
            ในวันสังขานต์ล่อง ยังนิยมนำวัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง พระพุทธรูป มาชำระสรงด้วยน้ำขมิ้นส้มปล่อย และนิยมปลูกฟักเขียว ฟักทอง โดยนำมูลควายตากแห้งมาทำปุ๋ย


เชื่อว่า เป็นที่ชื่นชอบของปู่สังขานต์ย่าสังขานต์ (มณี พยอมยงค์, ๒๕๔๓, หน้า ๖๔) นอกจากนั้น ยังนิยมทำบุญโดยการปล่อยนกปล่อยปลา และเด็กๆ และคนในวัยหนุ่มสาว นิยมเริ่มรดน้ำปีใหม่กัน ก่อนวันสังขานต์ล่องแล้ว โดยมักจะเริ่มกันตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน เรื่อยไปจนถึงวันพญาวัน ในชนบทบางแห่ง ยังนิยมรดน้ำปีใหม่กันจนถึงวันปากปี
 
การแห่พระพุทธสิหิงค์


            วันนี้ในเมืองเชียงใหม่ จะมีพิธีอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปสำคัญ คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ประดิษฐาน ณ วิหารลายคำ วัดพระสิงค์วรวิหาร เสด็จขึ้นบุษบกในช่วงเช้า และช่วงบ่ายอัญเชิญแห่รอบเมืองเชียงใหม่ ให้ประชาชนได้ทำการสรงน้ำขมิ้นส้มปล่อย ขบวนแห่ประกอบด้วย ขบวนช่อช้าง ขันนำทาน ช่างฟ้อนเล็บ กลองตึ่งโนง เครื่องสักการะล้านนา หมากสุ่ม หมากเบ็ง ต้นผึ้ง ต้นเทียน ต้นดอก และมีขบวนพระพุทธรูปสำคัญต่างๆ อาทิ พระพุทธรูปวัดดับภัย วัดดวงดี วัดศรีเกิด ฯลฯ เข้าร่วมแห่ในขบวน การสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์และพระพุทธรูปสำคัญเมืองเชียงใหม่ ในช่วงประเพณีปีใหม่เมือง จะทำให้เกิดความเป็นศิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว (สุวรรณ เทพจันทร์. ชาวบ้านตำบลศรีภูมิ ศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่, สัมภาษณ์, ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)
 
ความเชื่อเกี่ยวกับวันสังขานต์ล่อง
            สังขานต์ล่องในแต่ละปี มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต เห็นได้จากมีการทำนายเหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นในบ้านเมือง ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่มที่ ๑๓ กล่าวถึงความเชื่อบางประการเกี่ยวกับวันสังขารล่อง ดังนี้

            สังขารล่อง หรือสังขานต์ล่อง หรือสังกรานต์ล่องวันอาทิตย์ ชื่อว่า ทวารสสังกรานต์ ปีนั้นข้าวจักแพงมากนัก คนทั้งหลายจักเป็นพยาธิ ไข้เจ็บหัวปวดท้อง สังกรานต์ขี่นาคขี่รถไปยามอังคาร มือ ๑ ถือแก้ว มือ ๑ ถือผาลา จากหนอีสานไปสู่หนปัจจิม นางสงกรานต์ผู้มารับยืนไปมีชื่อ นางแพงศรี (ทุงษะเทวี) ปีนั้นข้าวจักแพงมากนัก คนทั้งหลายจักเป็นพยาธิ ไข้เจ็บหัวปวดท้อง ข้าศึกจักเกิดมีกับบ้านเมือง แมงบ้ง(หนอนแมลง) จักลงกินพืชไร่ข้าวนามากนัก ฝนตกบ่ทั่วเมือง จักแพ้สัตว์ ๒ ตีน ๔ ตีน จักตายด้วยห่าด้วยพยาธิ คนทั้งหลายมักเป็นตุ่มเป็นฝีแผล จักแพ้ผู้ใหญ่ คมมั่งมีเศรษฐีจักฉิบหาย หมากเกลือจักแพง ไม้ยางเป็นใหญ่แก่ไม้ทั้งหลาย ขวัญข้าวอยู่ไม้ไผ่ สัตว์ ๔ ตีนจักแพง ผู้เกิดวันพุธจักมีเคราะห์ ผู้เกิดวันเสาร์จักมีโชคลาภ
            สังขารล่อง หรือสังขานต์ล่อง หรือสังกรานต์ล่องวันจันทร์ ชื่อว่า ปโรโทสังกรานต์ขี่ครุฑ บางแห่งว่าขี่ม้าไปจากหนวันตกเฉียงใต้ไปยามพุธ มือซ้ายพาดตักมือขวาถือตุลย์คือคันชั่ง นางอันเป็นธิดาพระพรหมผู้มารับนั่งยองๆ รับเอา ชื่อว่านางมโนรา (โคราคเทวี) ปีนั้นงูจักเกิดมีมากนัก คนทั้งหลายจักเกิดเป็นพยาธิมากนัก ฝนหัวปีดีหางปีบ่พอดี ข้าวกล้าลางที่ดี ลางที่ก็บ่ดี ไม้กุ่มเป็นพญาแก่ไม้ทั้งหลาย ขวัญข้าวอยู่ไม้เดื่อเกลี้ยง (ไม้เดื่ออุทุมพร)คนเกิดวันอังคารจักมีเคราะห์ คนเกิดวันพุธจักมีโชค ของเขียวของเหลืองจักแพง ของลายจักถูก
            สังขารล่อง หรือสังขานต์ล่อง หรือสังกรานต์ล่องวันอังคาร ชื่อว่า โฆรัสสสังกรานต์ นั่งบนตักผียักษ์ ไปจากหนเหนือไปหนตะวันออกเฉียงใต้ ไปยามพฤหัสบดี มือซ้ายเท้ามือขวาถือหลาวเหล็ก บางแห่งว่าถือดาบสรีกัญไชย แลนางธิดาผู้มารับเอานั้นชื่อว่า รากษสเทวี นอนคว่ำรับเอาแล ฝนหัวปีดีกลางปีไม่ดี ปลายปีดีมาก ข้าวไร่ข้าวนาจักเสีย ลูกไม้บ่มีหน่วยหลาย ของขาวจักถูกของแดงจักแพงจักแพ้ผู้หญิงมีครรภ์ บ้านเมืองจักเกิดกลียุค แมลงมีปีกจักทำร้ายพืชผักข้าวกล้ามากนัก ไม้พิมานเป็นไม้ใหญ่แก่ไม้ทั้งหลายขวัญข้าวอยู่ไม้อ้อยช้าง (ไม้อยู่ในป่าคล้ายต้นละหุ่ง) ผู้เกิดวันอาทิตย์จักมีเคราะห์ ผู้เกิดวันพฤหัสบดีจักมีโชค
            สังขารล่อง หรือสังขานต์ล่อง หรือสังกรานต์ล่องวันพุธ ชื่อว่า มัญจาคีรี สังกรานต์ไปยามศุกร์ จากหนวันออกไปหนใต้ เท้าสวมเกือก (ใส่รองเท้า) หมวกสวมหัว มือซ้ายถือผาลา มือขวาถือดาบ ธิดาผู้มารับเอาเศียรพระพรหมชื่อ มันทะ นั่งคุกเข่ารับเอาแล ฝนตกบ่ทั่วเมืองหัวปีมีมากกลางปีมีน้อย ข้าวในนาจักได้ครึ่งเสียครึ่ง ของบริโภคจักแพง ปีนั้นจะแพ้สมณพราหมณ์ ขุนบ้านขุนเมืองจักตกต่ำ ไม้สะเลียม (สะเดา) เป็นไม้ใหญ่แก่ไม้ทั้งหลาย ขวัญข้าวพึ่งไม้คราม ปีนั้นสัตว์ ๔ ตีนจักแพง ของเขียว ของดำ ของขาว ของเหลืองจักแพง ของแดงจักถูก คนเกิดวันศุกร์จักมีเคราะห์ คนเกิดวันจันทร์ วันเสาร์จักมีโชค แลนางเทพธิดาที่มารับเศียร โหราศาสตร์ไทยชื่อว่า มณฑา
            สังขารล่อง หรือสังขานต์ล่อง หรือสังกรานต์ล่องวันพฤหัสบดี ชื่อว่า สมันตสังกรานต์ พิงตะแคงเหนือปราสาทซึ่งตั้งอยู่บนหลังม้า ไปยามพฤหัสบดีมือซ้ายถือดาบ มือขวาเท้าคางไป บางตำรามือขวาถือแก้ววิฑูรย์จากหนวันตกไปหนวันออก ธิดาผู้มารับชื่อ นางกัญญาเทพนั่งคุกเข่ารับเอาแล ฝนปีนั้นตกเสมอต้นเสมอปลายชอบตามฤดูกาล ผู้เป็นเจ้าใหญ่จักมีอันตราย ช้างม้าวัวควายจักตายมากนัก ไพร่ราษฎรจักอยู่ดีมีสุข ขุนใหญ่ ปุโรหิตะ พระสงฆ์จักเป็นทุกข์ คนค้ากินเที่ยวจักมีเคราะห์ ไม้สักเป็นไม้ใหญ่แก่ไม้ทั้งหลาย ขวัญข้าวอยู่ไม้ทองกวาว คนเกิดวันศุกร์จักมีเคราะห์ คนเกิดวันอาทิตย์จักมีโชค ของขาวของแดงจักแพง ของเหลืองจักถูก นางธิดากบิลพรหมผู้มารับเศียรในโหราศาสตร์ไทยชื่อว่า กิรินีเทวี
            สังขารล่อง หรือสังขานต์ล่อง หรือสังกรานต์ล่องวันศุกร์ ชื่อว่า มโตสังกรานต์ ขี่วัวไปยามอาทิตย์ มือซ้ายเท้าแขน มือขวาพาดอุ้มท้อง บางตำราว่ามือซ้ายถือขวาน มือขวาทูนก้อนหิน ลุกจากหนวันออกเฉียงใต้ไปหนวันตกแจ่งเหนือแล นางผู้รับชื่อ ริญโท นั้งยองๆ รับเอาฝนตกหัวปีดีกลางปีบ่มีหลาย เพลี้ย บุ้งจักกัดกินทำร้ายข้าวนา พืชไร่ อันตรายจักเกิดมีแก่สมณพราหมณ์ ปีนี้ผู้หญิงจักมีเคราะห์ ไม้สะเดาเป็นพระยาไม้ ขวัญข้าวอยู่ไม้พุทรา คนผู้เกิดวันพฤหัสบดีจักมีโชค ผู้เกิดวันพุธจักมีเคราะห์ สัตว์น้ำจักแพง พืชผักจักถูก เทพธิดาผู้มารับตามโหราศาสตร์ไทย ชื่อว่า กิมิทาเทวี บางตำราว่า นางสิตา
            สังขารล่อง หรือสังขานต์ล่อง หรือสังกรานต์ล่องวันเสาร์ ชื่อว่า มรณสังกรานต์ ขี่ปราสาทลมไปลุกวันออกไปแจ่งใต้ไปหนเหนือยามจันทร์ มือซ้ายถือคบเพลิง มือขวาถือไม้เท้า เทพธิดาของกบิลพรหมผู้มารับเศียรชื่อว่า สามาเทวี นั่งยองๆ รับเอาแล ปีนั้นฝนแล้ง แมลงต่างๆ จะทำร้ายพืชไร่มากนัก ไฟจังไหม้บ้านเมือง เกิดอัคคีภัยใหญ่ ปีนั้นจักแพ้ผู้ใหญ่ ข้าวยากหมากแพง ผู้เกิดวันจันทร์จักมีเคราะห์ ผู้เกิดวันศุกร์จักมีโชค นางเทพธิดาที่มารับเอาบางแห่งว่า นางโพธา ในโหราศาสตร์ว่า นางมโหธรเทวี
 
ความเชื่อบางประการเกี่ยวกับวันสังขานต์ล่อง

            วันสังขานต์ล่องที่ตรงกับวันอาทิตย์ (พญาสังกรานต์ ขุนสังกรานต์) ขี่นาค มือซ้ายถือค้อนเหล็ก มือขวาถือปืน มุ่งหน้าจากตะวันออกไปสู่ตะวันตก มีนางสิริเป็นผู้รับ ปีนั้นฝนจะตกดีต้นปี ปลายปีฝนจะแล้ง ไม้ยางขาวจะเป็นใหญ่กว่าไม้ทั้งหลาย ลาจะเป็นใหญ่ นกยูงเป็นใหญ่ คนเกิดวันอังคารจะมีเคราะห์ คนเกิดวันศุกร์จะมีโชคลาภ ของเหลืองของขาวจะแพง ของแดงจะถูก ปีนี้ดำหัว(สระผมในวันสังกรานต์ล่อง)ให้หันหน้าไปทางตะวันตก จะอยู่ดีมีสุข
            วันสังขานต์ล่องที่ตรงกับวันจันทร์ (พญาสังกรานต์ ขุนสังกรานต์) ขี่ครุฑไปจากทิศอีสานสู่ทิศหรดี มือซ้ายถือหอก มือขวาถือขอช้าง มีนางมโหสถเป็นผู้รบ ปีนี้ฝนจะดี คนจะเป็นไข้กันมาก ขวัญข้าวอยู่ที่ไม้เดื่อ(มะเดื่อ) คนเกิดวันพฤหัสจะมีเคราะห์ คนเกิดวันพะจะมีโชค ของขาวของแดงจะแพง ของเขียวจะถูก ดำหัวให้หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ จะอยู่ดีมีสุข
            วันสังขานต์ล่องที่ตรงกับวันอังคาร (พญาสังกรานต์ ขุนสังกรานต์)ขี่ยักษ์ จากทิศเหนือไปทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีนางสุนันทารับ ปีนี้ฝนแล้งต้นปีกลางปี ปลายปีฝนจะมีมาก ไม้กระชาวเป็นใหญ่ หญ้าปล้องเป็นใหญ่ ขวัญข้าวอยู่ที่ไม้อ้อ คนเกิดวันอาทิตย์จะมีเคราะห์ คนเกิดวันศุกร์จะมีโชค ดำหัวให้หน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
            วันสังขานต์ล่องที่ตรงกับวันพุธ (พญาสังกรานต์ ขุนสังกรานต์)ขี่ควาย มือซ้ายถือดาบ มือขวาถือดอกไม้ขาว ออกจากทิศตะวันออกสู่ทิศตะวันตก มีนางสิรินันทารับ ปีนี้ฝนดีปานกลาง สัตว์สี่เท้าจะแพง ของดำแดงจะถูก ขวัญข้าวอยู่ที่ไม้ป่านเถื่อน(ต้นดอกรัก) คนเกิดวันอาทิตย์จะมีเคราะห์ คนเกิดวันจันทร์จะมีโชค ดำหัวหน้าไปทางทิศเหนือ
            วันสังขานต์ล่องที่ตรงกับวันพฤหัส (พญาสังกรานต์ ขุนสังกรานต์) ขี่ม้า มือซ้ายถือน้ำเต้า มือขวาถือพัด ออกจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีนางสิริกัญญารับ ปีนี้ฟ้าฝนดี น้ำท่าจะท่วมบ้านเมือง คนเป็นไข้กันมาก สมณชีพราหมณ์จะเดือดร้อน สัตว์มีปีกจะแพง ของดำของเขียวจะถูก ไม้กระชาวเป็นใหญ่ ขวัญข้าวอยู่ที่ไม้พร้าว คนเกิดวันจันทร์จะมีเคราะห์ คนเกิดวันศุกร์จะมีโชค ดำหัวให้หน้าไปทางทิศใต้
            วันสังขานต์ล่องที่ตรงกับวันศุกร์ (พญาสังกรานต์ ขุนสังกรานต์) ขี่วัว มือซ้ายถือไม้เท้า มือขวาถือค้อนเหล็ก มุ่งหน้าจากทิศตะวันออกสู่ทิศเหนือ มีนางสุชาดารับ ปีนี้ต้นปีแล้ง กลางปีฝนมีมาก มีผลหมากรากไม้ ไม้ยมหินเป็นใหญ่แก่ไม้ทั้งหลาย หญ้าคาเป็นใหญ่แก่หญ้าทั้งหลาย ขวัญข้าวอยู่ที่ต้นพุทรา คนเกิดวันจันทร์มีเคราะห์ คนเกิดวันพุธมีโชค ดำหัวให้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก
            วันสังขานต์ล่องที่ตรงกับวันเสาร์ (พญาสังกรานต์ ขุนสังกรานต์) ขี่ปราสาท มือซ้ายถือขวาน มือขวาถือค้อนเหล็ก จากทิศอีสานไปทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีนางโพธานั่งยองๆ รับเอา ปีนี้ฟ้าฝนไม่เสมอกัน ไฟจะไหม้บ้านเมือง ไม้สะเดาเป็นใหญ่ สัตว์สี่เท้าสองเท้าจะแพง ของดำเหลืองจะถูก คนเกิดวันอาทิตย์จะมีโชค คนเกิดวันพฤหัสจะมีเคราะห์ ให้บูชาพระธาตุ ปล่อยสัตว์สองเท้า ดำหัวให้หันไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

            ครั้นว่าปีใดสุริยเทวบุตรนั่งไปดังอั้น ปีนั้นคนทั้งหลายมักจักกลั้นข้าวอยากน้ำกันมากนักแล ครั้นว่าปีใดสุริยเทวบุตรนอนไปดังอั้น เสนาอำมาตย์ทั้งหลายย่อมมีใจคดเลี้ยวแก่ท้าวพญา ไฟจักไหม้บ้านเมืองแล ครั้นว่าปีใดสุริยเทวบุตรยืนไปดังอั้น คนทั้งหลายจักอยู่ดีมีสุขมากนักบ่อย่าชะแล(โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา , ๒๕๕๑, หน้า ๔๐ –๔๓; ธรรมพื้นเมืองเรื่อง ตำนานอานิสงค์ปีใหม่พื้นเมือง)
 
Northern Thai Information Center (NTIC),
Chiang Mai University Library in collaboration with Information Technology Service Center
239 Huay Kaew Rd., Mueang District, Chiang Mai, Thailand 50200
Tel: +66 (0) 5394 4514, +66 (0) 5394 4517 email: ntic@lib.cmu.ac.th
Copyright © 2009-2016 Chiang Mai University. All Rights Reserved.