วิธีการทำหลัวหิงไฟพระเจ้า

ไม้ที่จะใช้บูชาพระเจ้านั้นมีข้อกำหนดว่าจะต้องเป็นไม้ที่มีกลิ่นหอม มีดอกหอม ห้ามใช้ไม้ที่มีรสเผ็ด รสเปรี้ยว หรือมีกลิ่นเหม็นเด็ดขาด ให้เลือกไม้ที่มีสีขาว ให้ถ่านดี ทนทาน ไม่แตกเวลาก่อไฟ และหาได้ง่ายในท้องถิ่น ไม้ส่วนใหญ่ที่นิยมใช้ ได้แก่

ไม้จี้ หรือไม้คนทา นิยมนำมาใช้บูชาพระเจ้า
  1. ไม้จี้ หรือไม้ชิงชี่ หรือไม้คนทาในภาคกลาง เป็นไม้ที่มีหนามตามลำต้น เมื่อเก็บมาแล้วต้องริบหนามออก ไม้มีลักษณะเป็นเถาและเนื้อในมีสีขาว ขึ้นในป่าบริเวณป่าละเมาะใกล้เชิงเขา
  2. ไม้โมกมัน หรือมูกมัน เป็นไม้ยืนต้น เนื้ออ่อนสีขาว
  3. ไม้โชค หรือสะคร้อ เป็นไม้ยืนต้นผลกินได้ มีสีขาวให้ถ่านดีมาก ชาวบ้านนิยมนำมาเผาถ่าน
  4. ไม้มะขาม เป็นไม้ยืนต้นข้างในสีขาว นิยมร่นกิ่งลงมาเหลือแต่ต้นไว้ เพื่อให้ออกกิ่งใหม่

นอกจากนี้  ยังมีไม้กาสะลอง (ไม้ปีป) ไม้สบันงา (ไม้กระดังงา) ไม้จุ๋มป๋า (ไม้จำปา) ฯลฯ ในการคัดเลือกไม้ ให้เลือกกิ่งที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒-๓ นิ้ว และตัดให้มีความยาวประมาณ ๑ วาของเจ้าภาพ หรือ ๑.๘๐- ๒.๐๐ เมตร แล้วนำมาผึ่งแดดให้แห้ง ถึงวันก่อนเดือน ๔ เป็ง ๑ วัน  แล้วถากเอาเปลือกไม้ออกทุกส่วน นำมามัดรวมกันให้ได้ ๘๐ ท่อน เท่าจำนวนพระชนมายุของพระพุทธเจ้า คือ ๘๐ พรรษา

ผึ่งแดดให้แห้งและถากเอาเปลือกออก

จากนั้นช่วยกันแบกหามเข้าสู่วัดนำมาไว้ที่ลานข้างวิหาร หรือที่ล้านนาเรียกว่า “ข่วงแก้วทังสาม” หรือ “ข่วงแก้วอาราม” ตรงหน้าพระประธาน จากนั้นจัดการกองสุมหลัวเป็นรูปเหมือนกระโจมอินเดียนแดง โดยทำเป็นซุ้มสองกองไว้ ชั้นแรกใช้ไม้รวกเป็นแกนตั้งข้างใน ข้างนอกเป็นพวกไม้ซางและไม้อื่นๆที่เตรียมไว้   ใช้เถาวัลย์ตรึงมัดกองโดยรอบ โดยเฉพาะตัวแกนในเพื่อไม่ให้กองฟืนโค่นล้ม ไม้ฟืนทั้งหมดต้องคละด้วยไม้ที่เก็บมาใหม่ หากเป็นไม้แห้งหมดจะไหม้ไฟไวเกินไป นอกจากนี้มีการใส่ “หมากสะโปก” ไม้ประทัด หรือไม้ระเบิดสอดเข้าข้างในด้วย   ขณะที่ไม้ติดไฟจะแตกเสียงดังไปไกล เป็นสัญญาณให้ชาวบ้านลุกตื่นมาจัดเตรียมข้าวปลาอาหาร เพื่อมาทำบุญที่วัด ไม้นี้ทำจากไม้ไผ่ซาง หรือไม้บง ตัดปิดหัวท้ายเป็นท่อน อาจเป็น ๒ ท่อนบ้าง ๓ ท่อนบ้าง ใส่สะโปกประมาณ ๔-๕ ชุด เตรียมไว้สำหรับเผาต่อไป