ประเพณีการปลูกเรือน

ประเพณีวัฒนธรรมการปลูกเรือนนั้น ในแต่ละสังคมย่อมมีวิธีการที่แตกต่างและคล้ายคลึงกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสังคมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และสภาพแวดล้อม ประเพณีการปลูกเรือนล้วนแฝงไว้ด้วยคติความเชื่อของสังคมนั้นๆซึ่งเป็นตัวกำหนดพื้นฐานของการปลูกสร้างบ้านเรือน เพื่อให้บังเกิดความอยู่เย็นเป็นสุขแก่ผู้อาศัยในเรือนนั้นๆ การ “ปกหอยอเฮือน” เป็นคำพูดในภาษาล้านนา หมายถึงประเพณีการปลูกเรือนล้านนา แต่เดิมที่อยู่อาศัยของชาวล้านนามีด้วยกันหลายระดับ แล้วแต่ฐานนะของเจ้าของมีตั้งแต่ตูบติดดิน ตูบหมาแหงน ตูบหย่างร่างเรือน ตูบพื้นหลองข้าว เรือนไม้บั่ว เรือนเครื่องไม้จริง เรือนไม้จริงล้วน คือพื้นแป้นฝาแป้น เป็นต้น (ศรีเลา เกษพรหม, ๒๕๓๙, หน้า ๖๕)

การครองเรือนของคนล้านนา แต่โบราณนิยมให้ฝ่ายชายอยู่ร่วมกับฝ่ายหญิง เรียกว่า วิวาหมงคล หรือ วิวาหะมังคละ เพื่อให้ฝ่ายชายได้รับใช้บิดามารดาฝ่ายหญิง เรียกว่า “ได้ลูกอ้ายหลานชาย” เพื่อเป็นการตอบแทนที่ฝ่ายชายได้ลูกสาวของเขามาเป็นภรรยา เป็นเวลา ๓ ปีเป็นอย่างน้อย จึงจะแยกตัวลงมาตั้งเรือนใหม่อีก ๑ ครอบครัว เรียกว่า “ลงปักซั้งตั้งกิน” (มณี พยอมยงค์, ๒๕๓๐, หน้า ๑๗๐) การปลูกเรือนในสมัยโบราณจะปลูกให้ดีทีเดียวเลยไม่ได้ ถือว่าขึด จะเกิดโรคภัยไข้เจ็บ แต่ถ้าพ้น ๓ ปีไปแล้วจะปลูกเรือนแบบใดก็ได้ไม่มีขึดอันใด ในปีแรกต้องปลูกเรือนแบบฝังเสาดั้งจากดินขึ้นไป เรียกว่า “เสาดั้งจ้ำดิน” เรือนแบบนี้อยู่ได้ประมาณ ๑ ปีเท่านั้นก็ต้องรื้อปลูกใหม่ การปลูกเรือนในปีที่ ๒ จะสร้างเรือนผูก คือผูกขื่อผูกแปกับเสาเรือนได้โดยเสาดั้งตั้งจากขื่อขึ้นไป ปีที่ ๓ จึงจะปลูกเรือนแบบเจาะรูขื่อรูแป เพื่อสวมเข้ากับเดือยปลายเสาได้ เรียกว่า “เรือนขื่อสุบ” ในการปลูกเรือนใหม่ชายหนุ่มจะต้องหาสถานที่อยู่และเตรียมอุปกรณ์ในการทำบ้านไว้อย่างพร้อมมูล (ศรีเลา เกษพรหม, ๒๕๓๙, หน้า ๖๕)

เรือนไม้ล้านนาสมัยโบราณ
เรือนไม้ล้านนาสมัยโบราณ
เรือนไม้ล้านนาสมัยปัจจุบัน
เรือนไม้ล้านนาสมัยปัจจุบัน