วันปกเรือน

ชาวบ้านช่วยกันปกเรือน

วันรุ่งขึ้นชาวบ้านที่ได้รับการบอกกล่าวจากเจ้าของเรือน หรือได้ทราบว่าบ้านมีบ้านที่จะปกเรือนก็จะมีน้ำใจมาช่วยปกเรือนด้วย มีทั้งคนอายุประมาณ ๓๕ ปีขึ้นไป จนถึงคนสะหมังเคิ้ม คืออายุ ๔๐-๕๐ ปี บางคนก็กว่า ๖๐ ปีไปแล้วจะมาช่วยกันโดยแบ่งงานตามความถนัดและตามเครื่องมือที่ตนเองมี

ในการปกเรือนจะเอาขื่อแปวางซ้อนกันในจุดที่จะปลูกเรือน โดยวางขื่อยาวไปตามทิศตะวันออกและตะวันตก วางแปยาวไปตามทิศเหนือใต้ หากวางแปไปตามทิศตะวันออกและตะวันตกจะถือว่า “แปลงเรือนขวางโลก” เรือนล้านนาในอดีตจะหันหน้าเรือนไป ๒ ทิศเท่านั้นคือ ทิศเหนือและทิศใต้ (ศรีเลา เกษพรหม, ๒๕๓๙, หน้า ๘๗)

ในการปกเสาเรือนนั้นจะต้องปกเสามงคลหรือเสาเอกก่อน แล้วจึงปกเสานาง และเสาอื่นๆตามมา เมื่อชาวบ้านมาแล้วถ้ายังไม่ได้ขุดหลุมเสา ก็จะลงมือขุดเสามงคลกับเสานางก่อน เพราะจะต้องมีพิธีกรรมเกี่ยวเสาทั้งสองต้นนี้ ปู่อาจารย์จะเป็นผู้ผูกเสามงคลให้ ชาวบ้านจะช่วยกันหามเสามงคลและเสานางไปที่หลุม หันปลายเสาไปตามทิศมงคล เอาโคนเสาใกล้ปากหลุม ที่ปลายเสาจะมีไม้ง่ามค้ำเป็นรูปกากบาทสูงประมาณ ๑ ศอกเพื่อวางรับเสาไห้ห่างจากพื้น มีเครื่องบูชาประกอบด้วย มะพร้าวอ่อน ๑ ทะลาย กล้วย ๑ เครือ ต้นกล้วย ต้นอ้อย และเสื้อของเจ้าบ้านผู้ชายมาผูกกับเสามงคล แล้วเอายอดใบไม้ที่เป็นพญาแก่ไม้ทั้งหลายประจำวันนั้นๆมาผูกกับเสามงคลด้วย (ศรีเลา เกษพรหม, ๒๕๓๙, หน้า ๑๐๙-๑๑๐)

พิธีแก้เสนียดจัญไร เครื่องบูชาและใบไม้มงคล

ใบไม้มงคลประจำวัน

ใบไม้มงคลประจำวันต่างๆมีดังต่อไปนี้

วันอาทิตย์
ใบไผ่บง หรือไผ่ซาง เป็นพญา
วันจันทร์
ใบเดื่อเกลี้ยง
วันอังคาร
ใบไม้กุ่ม
วันพุธ
ใบไม้แงะ
วันพฤหัสบดี
ใบไม้ม่วง
วันศุกร์
ใบทัน (พุทรา)
วันเสาร์
ใบฝาแป้ง

เมื่อผูกเสามงคลแล้ว สำหรับเสานางก็ผูกด้วยเครื่องอย่างกับเสามงคล แต่ใช้เสื้อเจ้าบ้านผู้หญิงผูกกับเสาและนำใบไม้มงคลประจำวันมารองไว้ก้นหลุมเสามงคล เสานางและรองเสาทุกต้น

วันอาทิตย์
ใบไม้ไล่ รองหลุมเสา
วันจันทร์
ใบหมากพิน (มะตูม)
วันอังคาร
ใบกุ่ม
วันพุธ
ใบเปล้า
วันพฤหัสบดี
 ใยมะม่วงคำ
วันศุกร์
ใบงิ้ว
วันเสาร์
ใบแคขาว