การบูชาเทวดาที่รักษาพื้นที่ที่จะปลูกเรือน

ก่อนวันปกเรือน ๑ วัน คนเฒ่าคนแก่ที่เป็นหญิงจะช่วยกันดาครัวขึ้นท้าวทั้ง ๔ จัดทำเป็นสะตวงหรือกระทงจำนวน ๖ กระทง ส่วนคนแก่ชายจะจัดตั้งค้างท้าวทั้ง ๔ บางแห่งก็จะทำสะตวงหยวกกล้วยกว้างประมาณ ๑ คืบ จำนวน ๕ สะตวง ใส่เครื่องครัวบูชา มีข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน แกงส้ม แกงหวาน กล้วย อ้อย ข้าว น้ำ โภชนาอาหาร หมากพลู ยา อย่างละ ๔ ช่อขาว ๔ เรียกว่า  “สะตวงเครื่อง ๔”  พิธีกรรมข้างต้น (ศรีเลา เกษพรหม, ๒๕๓๙, หน้า ๘๖ และ ๑๐๗)  บางตำราก็เรียกว่า การทำพิธี “เสดาะเสนียด” (ขึด หรือปัดรังควานเสาที่จะทำพิธี “ปก” โดยให้อ่านคาถาแล้วใช้มีดหรือขวาน ถากไม้ตรงตีนเสาออกพอเป็นพิธี และเอาเศษไม้ที่ถากมาไปใส่ในสะตวงแล้วเอาสะตวงทั้ง ๔ อันไปวางไว้ตามทิศสี่มุมบ้าน ส่วนสะตวงอีกอันหนึ่งที่อยู่ตรงกลางนั้นให้เอาไปลอยน้ำเสีย เป็นเสร็จพิธี (มณี พยอมยงค์, ๒๕๓๐, หน้า ๑๗๕-๑๗๖)

พิธีขึ้นท้าวทั้งสี่

พอตกเย็นอาจารย์วัดหรือปู่อาจารย์จะเป็นผู้มากล่าวคำโอกาสขึ้นท้าวทั้ง๔ และบอกเจ้าที่เจ้าทางบอกแม่พระธรณีให้ช่วยคุ้มครองไม่ให้เกิดเรื่องร้ายแรง โดยยกสะตวงอันหนึ่งตั้งไว้ตรงกลางที่ดินนั้นเพื่อกล่าวบูชาขออนุญาตจากเจ้าที่ ส่วนสะตวงอีก ๔ ยกไปตั้งไว้ยังทิศทั้ง ๔ แล้วกล่าวคำอาราธนาบูชาว่า “ มหาลยันติ ลหายันติ ลหาลตันติว หูลู หูลู สวาหาย” ๗ จบแล้วยกสะตวงออกไปให้พ้นเขตที่ดินตามทิศนั้นๆ (ศรีเลา เกษพรหม, ๒๕๓๙, หน้า ๑๐๗)

บางตำรากล่าวว่าการทำพิธีเซ่นสรวงเจ้าที่หรือพญานาค เนื่องจากในสมัยโบราณชาวเหนือมีความเชื่อว่า พญานาคเป็นสัตว์ที่มีอิทธิฤทธิ์เป็นเจ้าแผ่นดิน และแผ่นฟ้า สามารถอำนวยความสุขสวัสดี หรือภัยพิบัติแก่มวลมนุษย์ได้ โดยให้วัดจากมุมทั้งสี่ของบริเวณที่จะปลูกเรือนให้ได้จุดศูนย์กลางแล้วให้ขุดหลุมลึก ๑ คืบ กว้าง ๑ คืบ ให้เอาข้าวปั้น กล้วยหน่วย และอาหารคาวหวาน อย่างละเล็กละน้อยใส่เข้าไปในหลุมนั้น

แล้วอาจารย์จะอ่านคำโองการว่า “โอม นะโม นาคะราชา มหานาคะราชา สวาหุง นาคะราชา อิมัสสสะมิง นะกะเล สุวัณณะรัชชะตัง วา มะณี วา อาคัจเฉยยะ อาคัจฉาหิ ภุญชันตุ สวาหุง” ว่าครบ ๓ จบ แล้วก็อัญเชิญให้พญานาคมารับสิ่งของสังเวยนั้น แล้วกลบดินถมหลุมเป็นเสร็จพิธีเลี้ยงเจ้าที่เจ้าดิน หรือพญานาค (มณี พยอมยงค์, ๒๕๓๐, หน้า ๑๗๕)

พิธีเซ่นสรวงเจ้าที่

การบูชาพญานาค บางท้องถิ่นเมื่อจะปกเสาเรือน ต้องมีการจัดเครื่องบูชาพญานาค โดยทำสะตวงหยวกกล้วย กว้าง ยาว เท่ากับศอกของเจ้าของเรือน ใส่ด้วยข้าว น้ำ โภชนาอาหาร พร้าว ตาล กล้วย อ้อย หมาก พลู ข้าวตอก ดอกไม้ ช่อ ๖ ตัว จองแหลง (คือเทียนขี้ผึ้งขนาดเล็กติดกับตอกไม้ไผ่) ๖ อัน ดอกไม้ขาว ๖ ดอก ผ้าขาว ผ้าแดง ยาวเท่ากับศอกของเจ้าของเรือน ๒ ผืน แล้วขุดหลุมใกล้กับหลุมเสามงคล กว้าง ๑ ศอก ลึก ๑ ศอกของเจ้าเรือน วางสะตวงใกล้กับปากหลุม และกล่าวคำโอกาสดังนี้

“โภนโต ดูรานาคราชาตนเป็นเจ้าเป็นใหญ่ตนประเสริฐ อันเป็นใหญ่กว่านาคทั้งหลาย มากกว่าแสนโกฏิ อันอยู่รักษาแผ่นดินหนาได้สองแสนสี่หมื่นโยชนะ และรักษาเมืองคำแห่งอินทราชเจ้ากล้ำลุ่ม บัดนี้หมายมีเจ้าเรือนผู้มีชื่อว่า............จิ่งจักมาสร้างแปลงยังเคหาหอเรือนอันใหม่ ก็จิ่งจักรำเพิงเถิงบุญคุณแห่งเจ้ากู ก็จิ่งได้ตกแต่งยังเครื่องบริกรรมปูชานมัสการ มีข้าวปลาโภชนาอาหาร แกงส้ม แกงหวาน พร้าวตาล กล้วยอ้อย จองแหลงและเยื่องและ ๖ มีผ้าขาว ๒ ผืน ก็เพื่อว่าจักมาขอเอายังโชคชัย ลาภะสักการะ กับด้วยเจ้ากูว่าอั้นสันนี้แท้ดีหลี ขอเจ้ากูจุ่งจักมารับเอายังเครื่องขียาปูชานมัสการทังหลายมวลฝูงนี้ แล้วขอเจ้ากูจุ่งจักนำมายัง โชคชัย ลาภะสักการะ ยศ บริวาร ศรีโภคะ ธนะ มะหิงสา สิตา นารานิบิ สัพพะสิทธิ วิฏฏรุจจิติ” ว่า ๓ ครั้งแล้วเอาผ้าขาว ๒ ผืน รองตีนเสามงคลผืน ๑ และรองตีนเสานางผืน ๑ จากนั้นเอาสะตวงไปให้พ้นเขตบ้าน แล้วจึงทำการปกเสามงคลและเสานาง รวมทั้งเสาอื่นๆ ต่อไป (ศรีเลา เกษพรหม, ๒๕๓๙, หน้า ๑๑๑)