ข่า


 
            กฏุกกโรหินี (ภาคกลาง) ข่าหยวก ข่าหลวง (ภาคเหนือ) เสะเออเคย สะเอเชย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) (จีรเดช มโนสร้อย และอรัญญา มโนสร้อย, 2537, 87) ข่าตาแดง (ภาคกลาง) (วุฒิ วุฒิธรรมเวช, 2540, 130)
 
            เป็นพืชพื้นเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปลูกง่าย ขึ้นได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย ลำต้นขึ้นเป็นกอ มีเหง้าหรือแง่งอยู่ในดิน ต้นสูงประมาณ 2 เมตร ลักษณะเป็นข้อและปล้อง ส่วนที่อยู่ดินเป็นก้านและใบ ดอกออกที่ยอดเป็นดอกช่อ ก้านดอกยาว ดอกย่อยมีขนาดเล็ก สีชมพูหรือขาวอมม่วงแดง ข่าตาแดง เหมือนกับข่าทั่วไป แต่ต้นเล็กกว่าเล็กน้อย โคนต้นสีแดง หน่ออกใหม่และตาสีแดง รสและสรรพคุณมีฤทธิ์แรงกว่าข่าธรรมดา เกิดตามป่าดงดิบเขาทั่วประเทศ (วุฒิ วุฒิธรรมเวช, 2540, 130)
 
        
            มีโปรตีน เบต้าแคโรทีน วิตามินเอ (ผักพื้นบ้าน อาหารไทย, 2548, 140) เหง้าอ่อนและเหง้าแก่ใช้ปรุงอาหาร เพื่อดับคาว นอกจากกินเหง้าแล้ว คนไทยยังกินดอกอ่อนเป็นผัก รสซ่าเผ็ด กินสดหรือลวกหรือนึ่ง เป็นเครื่องเคียงน้ำพริก นอกจากนี้ชาวล้านนาใช้เป็นส่วนผสมแกงแค และคั่วแค
        
ดอกข่าเป็นยาระบายอ่อนๆ เหง้ารักษาโรคกลากเกลื้อน โดยนำไปตำแล้วแช่เหล้าขาว ใช้ทาจนกว่าจะหาย (ผักพื้นบ้าน อาหารไทย, 2548, 140)

ข้อบ่งใช้ทางเภสัชกรรมล้านนา เป็นส่วนประกอบในตำรับยาเมื่อยเส้นเอ็น ยาเสียบคัด ยาเกี่ยวขึ้นหัว ยาชะคิวกินเอ็น ยามะเร็งครุด ยาไอ เป็นต้น
ข้อบ่งใช้ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน-แผนไทย ข่าแก่ใช้รับประทาน ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับเสมหะ ขับเหงื่อ แก้บิด ตำให้ละเอียดใช้ทาแก้โรคผิวหนังกลากเกลื้อน
เหง้าสดยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว (หรือประมาณ 2 องคุลี) ตำให้ละเอียด เติมน้ำปูนใส ใช้น้ำรับประทานครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว แก้ท้องขึ้นท้องอืด และสมารถแก้ท้องเดิน และอาเจียน ที่เรียกว่า โรคป่วงใต้ได้
เหง้าแก่ๆ ขนาดเท่าหัวแม่มือ ตำให้ละเอียด ผสมเหล้าโรง ทาหลายๆ ครั้ง จนกว่าเกลื้อนจะหาย
เหง้าแก่สด 1-2 หัวแม่มือ ทุบให้แตกละเอียด เติมเหล้าโรงพอท่วม แช่ไว้ 2 วัน ใช้น้ำสำลีชุบยา ทาตรงบริเวณน้ำกัดเท้าวันละ 3-4 ครั้ง
เหง้าแก่ๆ สด 1 แง่ง ตำให้ละเอียด เติมเหล้าโรงให้แฉะๆ ใช้ทั้งเนื้อและน้ำทาบริเวณที่เป็นลมพิษ ทาบ่อยๆ จนกว่าจะดีขึ้น (จีรเดช มโนสร้อย และอรัญญา มโนสร้อย, 2537, 87)
 
            ตลอดปี
 
 
            

จีรเดช มโนสร้อย และอรัญญา มโนสร้อย. (2537). เภสัชกรรมล้านนา: ตำรับยาสมุนไพรล้านนา. กรุงเทพฯ: สถาบันการแพทย์แผนไทย.

ผักพื้นบ้าน อาหารไทย. (2548). กรุงเทพฯ: แสงแดด.

วุฒิ วุฒิธรรมเวช. (2540). สารานุกรมสมุนไพร: รวมหลักเภสัชกรรมไทย. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.