ดีปลี


 
            ดีปลีเชือก ประดงข้อ (ภาคใต้) พิษพญาไฟ ปานนุ กระดงข้อ พยาไฟ ปานนุ ปิกผัววะ (จีนแต้จิ๋ว) (วุฒิ วุฒิธรรมเวช, 2540, 193; อรุณี วิเศษสุข และคณะ, 2542, 81)
 
            ต้น เป็นไม้เถาเลื้อยมีรากติดอยู่ตามข้อ และรากช่วยยึดเกาะ งอกตามข้อ ใบ ใบเดี่ยวรูปหอก ออกเรียงสลับกันตามข้อ ปลายใบแหลม โคนใบมน ใบกว้าง 3-5 ซม. ยาว 7-10 ซม. ขอบใบเรียบ มีสีเขียว ดอก เป็นช่อทรงกระบอก ลักษณะของดอกคล้ายกับดอกชะพลู ดอกยาว 1-2 นิ้ว ช่อดอกตั้งขึ้น ออกที่ยอดหรือที่ง่ามใบ ผล ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่จะกลายเป็นสีแดงส้ม และมีกลิ่นฉุน ((อรุณี วิเศษสุข และคณะ, 2542, 81) เถาใช้ทำเป็นสีย้อมผ้า ได้สีน้ำตาลอ่อน เมื่อผสมกับแก่นฝาง จะได้สีน้ำตาลแดง (วุฒิ วุฒิธรรมเวช, 2540, 193)
 
        
            ไม่มีข้อมูลสารอาหาร ผลสุกตากแห้ง เป็นเครื่องเทศประกอบอาหารจำพวก แกงเผ็ด แกงคั่ว ช่วยดับกลิ่นคาว ผลอ่อนใช้เป็นผักสด ยอดอ่อนเป็นส่วนผสมข้าวยำ (อรุณี วิเศษสุข และคณะ, 2542, 81) ชาวล้านนาใช้ยอดอ่อน ผลอ่อนเป็นส่วนผสมแกงแค คั่วแค เป็นเครื่องเคียงลาบ หรือผักกับลาบ ผลสุกตากแห้งเป็นสวนผสมเครื่องแกง เครื่องเทศ โดยเฉพาะลาบ ถือว่าเป็นเครื่องปรุงสำคัญ (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 2239; ประธาน นันไชยศิลป์, 2550, สัมภาษณ์)
        
ใบ รสเผ็ดร้อน แก้เส้นสุมนา (เส้นศูนย์กลางท้อง) ผล ตามตำรับยา นิยมเรียกว่า ดอกดีปลี รสเผ็ดร้อนขม แก้ปถวีธาตุพิการ แก้ท้องร่วง ขับลมในลำไส้ แก้หืด แก้ไอ แก้ลมวิงเวียน แก้ริดสีดวงทวารหนัก แก้คุดทะราด เจริญอาหาร แก้หลอดลมอักเสบ แก้โรคนอนไม่หลับ แก้ลมบ้าหมู ขับน้ำดี ในกรณีที่มีการอุดตันของท่อน้ำดี ขับระดู ทำให้แท้ง ขับพยาธิ ใช้ภายนอก แก้ปวดกล้ามเนื้อ รักษาอาการอักเสบ เถา รสเผ็ดร้อน แก้เสมหะพิการ แก้ปวดฟัน แก้ปวดท้อง จุกเสียด แก้ริดสีดวงทวาร แก้ลม เจริญอาหาร ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ ราก รสเผ็ดร้อนขม แก้เส้นอัมพฤกษ์ อัมพาต ดับพิษปัตคาด แก้หืดไอ แก้ลมวิงเวียน แก้เสมหะ แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ รักษาลำไส้ใหญ่อักเสบ (วุฒิ วุฒิธรรมเวช, 2540, 193)
ข้อบ่งใช้ทางเภสัชกรรมล้านนา เป็นส่วนประกอบในตำรับยาเกี่ยวขึ้นเป็นลมสรุปเจ็บ ยานัตถุ์ ยาอันจักใคร่หื้อมีลูก และยาผีสาน (จีรเดช มโนสร้อย และอรัญญา มโนสร้อย, 2537, 107)

 
            ตลอดปี
 
 
            

จีรเดช มโนสร้อย และอรัญญา มโนสร้อย. (2537). เภสัชกรรมล้านนา: ตำรับยาสมุนไพรล้านนา. กรุงเทพฯ: สถาบันการแพทย์แผนไทย.

ประธาน นันไชยศิลป์. (2550). สัมภาษณ์. 3 กรกฎาคม.

รัตนา พรหมพิชัย. (2542). ดีปลี. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (เล่ม 5, หน้า 2239). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

วุฒิ วุฒิธรรมเวช. (2540). สารานุกรมสมุนไพร: รวมหลักเภสัชกรรมไทย. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

อรุณี วิเศษสุข และคณะ. (2542). ผักพื้นบ้านภาคใต้. บรรณาธิการ กัญจนา ดีวิเศษ. กรุงเทพฯ: โครงการพัฒนาตำรา สถาบันการแพทย์แผนไทย มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา