เพลงคำเมือง (นิยมอ่าน “เพงกำเมือง”)

พรพรรณ วรรณา (2542 : 4757-4766) ได้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับเพลงคำเมือง ในหนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 9 ดังนี้

เพลงคำเมือง คือเพลงที่มีเนื้อร้องเป็นภาษาถิ่นล้านนา ซึ่งกล่าวได้ว่ามีกำเนิดและพัฒนาการส่วนหนึ่งต่อเนื่องมาจากเพลงพื้นบ้าน เพลงคำเมือง อาจแบ่งตามรูปแบบได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

  1. เพลงลูกทุ่งคำเมือง
  2. เพลงโฟล์คซองคำเมือง
  3. เพลงสตริงคำเมือง
  4. เพลงเมดเล่ย์คำเมือง

เพลงลูกทุ่งคำเมือง

เพลงลูกทุ่ง เป็นเพลงที่มีการผสมผสานอย่างเหมาะสมระหว่างคุณลักษณะเพลงไทยเดิมและเพลงไทยสากล เป็นเพลงที่แพร่หลายและได้รับความนิยมมากในท้องถิ่นไทยทุกภาค มีผู้ให้ข้อสังเกตว่าเพลงลูกทุ่งอยู่ในความนิยมของชาวบ้านได้ ก็เพราะเจือลักษณะพื้นบ้านไว้ได้มากที่สุด สอดคล้องและเข้ากันได้กับชีวิตของชาวบ้าน ความนิยมเพลงลูกทุ่งในท้องถิ่นล้านนาก็เช่นเดียวกัน ชาวล้านนานิยมเพลงลูกทุ่งกันอย่างแพร่หลาย จนเกิดการพัฒนาไปสู่เพลงในลักษณะ “เพลงลูกทุ่งคำเมือง” ซึ่งเป็นเพลงที่ร้องด้วยภาษาท้องถิ่นในที่สุด

ในภาคเหนือเริ่มปรากฏเพลงในลักษณะ “เพลงลูกทุ่งคำเมือง” เมื่อประมาณ พ.ศ. 2497-2498 โดยมีการเริ่มก่อตั้งวงดนตรีไทยสากลขึ้นในเชียงใหม่ ได้แก่ วงลูกระมิงค์ วงดาวเหนือ วงดุริยะเวียงพิงค์ ซึ่งในภายหลังเรียกขานกันว่าเป็นแบบ “วงดนตรีลูกทุ่ง”

วงดนตรีลูกระมิงค์ เป็นวงดนตรีที่เริ่มมีการแต่งเพลงด้วยลีลา “ลูกทุ่งคำเมือง” ขึ้น ผู้แต่งเพลงคนสำคัญ คือ สุริยา ยศถาวร เนื้อร้องเป็นภาษาคำเมือง มักจะมีเนื้อหาชวนตลกขบขัน เช่น เพลงลืมอ้ายแล้วกา คนสึ่งตัง ปี๊นเก๊าบ่าตัน เป็นต้น มีนักร้องที่สามารถแต่งเพลงคำเมืองคนอื่นๆ อีก เช่น วีระพล คำมงคล ถวิล รัตนแก้ว เป็นต้น เพลงลูกทุ่งคำเมืองเหล่านี้ได้รับความนิยมไม่น้อย

วงดนตรีที่มีชื่อเสียงในเชียงใหม่ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2499 ก็คือวง ซี.เอ็ม. และในปี พ.ศ. 2507 ก็มีวงดนตรีที่แยกตัวออกมาจากวง ซี.เอ็ม. คือวงศรีสมเพชร นับเป็นวงที่สืบทอดการเล่นเพลงในลีลาเพลงลูกทุ่งคำเมืองไว้กว่า 30 ปี โดยมีนักร้องและนักแต่งเพลงประจำวง เช่น สุริยา ยศถาวร วีระพล คำมงคล เป็นต้น ตัวอย่างเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เช่น เพลงสาวมอเตอร์ไซค์ หยุบมือกำ บ่เกย เย็นฤดี บ่าวโหล ฯลฯ เป็นต้น

จุดเริ่มต้นที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การตั้งวงดนตรี “พื้นเมืองประยุกต์” ขึ้นในเชียงใหม่ กล่าวคือ อำนวย กะลำพัด นักจัดรายการเพลงชื่อดังของสถานีวิทยุในเชียงใหม่ ซึ่งเจ้าของคณะซอในสังกัดห้างรัตนเวช ได้ตั้งคณะละครซอ และตั้งวงดนตรีในแบบพื้นเมืองประยุกต์ขึ้น โดยใช้เครื่องดนตรีพื้นเมือง เช่น ซึง สะล้อ ขลุ่ย ปี่ชุม ผสมผสานกับเครื่องดนตรีสากล เช่น กลอง เบส กีตาร์ และกีตาร์ไฟฟ้า เพลงที่เล่นมีทั้งเพลงในลีลาลูกทุ่ง และนำทำนองเพลงซอมาใส่เนื้อร้องใหม่ หรือบางเพลงก็เป็นบทซอที่มีมาแต่เดิม แต่นำมาบรรเลง ในลีลาผสมผสานระหว่างพื้นเมืองกับสากล ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างมาก วงดนตรีดังกล่าวในตอนแรกตั้งชื่อว่า “อำนวยโชว์” ภายหลังเมื่ออำนวย กะลำพัด ออกจากกิจการไปก็มีการตั้งชื่อวงใหม่ว่า “สี่โพธิ์แดง”

ถึงแม้ว่าจะมีผู้ริเริ่มแต่งเพลงลูกทุ่งคำเมืองขึ้นอย่างจริงจังตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2500 แต่ก็ดูเหมือนว่าผู้ที่ทำให้เพลงคำเมืองเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปในหมู่ประชาชนทั่วไปได้กว้างขวางที่สุด คือศิริพงษ์ ศรีโกไสย (ย่าบุญ) นักจัดรายการเพลงในสถานีวิทยุในเชียงใหม่มากว่า 30 ปี (เสียชีวิตเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2541) ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งวงดนตรีศรีสมเพชร ร่วมกับประสิทธิ์ ศรีสมเพชร และในปี พ.ศ. 2511 เขาเป็นผู้นำวงดนตรีศรีสมเพชรไปบันทึกแผ่นเสียงที่ห้องบันทึกเสียงกมลสุโกศล กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก เพลงที่ได้รับการบันทึกแผ่นเสียงเป็นชุดแรกคือ เพลงเย็นฤดี นั่นเอง นอกจากนี้ เขายังได้นำเพลงซอพื้นเมืองมาประยุกต์ร้องร่วมกับดนตรีไทยสากลเป็นคนแรกของเชียงใหม่ คือ เพลงหนุ่มซอรอแฟน โดยให้ แสงจันทร์ สายวงค์อินทร์ เป็นผู้แต่งเนื้อร้องจากทำนองซอเดิม คือ ซอเงี้ยว หรือ ซอเสเลเมา เมื่อ พ. ศ. 2513 โดยมี วีระพล คำมงคล เป็นผู้ขับร้อง

เมื่อเพลงเย็นฤดี เพลงหนุ่มซอรอแฟน ฯลฯ ได้รับความนิยม ต่อมาอีกเป็นเวลานานจึงมีการนำนักร้องไปบันทึกแผ่นเสียงอีกเรื่อยๆ แต่ยังไม่มีลักษณะเป็นเชิงธุรกิจเหมือนปัจจุบัน ช่วง พ.ศ. 2510-2520 จึงถือว่าเพลงคำเมืองของ วีระพล คำมงคล สุริยา ยศถาวร ฯลฯ เป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไปเป็นอย่างดี โดยมี ศิริพงษ์ ศรีโกไสย เป็นผู้ให้การสนับสนุนอยู่ตลอด และในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2522 เข้าได้เป็นผู้ริเริ่มพาช่างซอและคณะละครซอไปแสดงที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ลำปาง และเป็นผู้ให้การสนับสนุน นายสุรินทร์ หน่อคำ หรือไอ่เก๋า อี่ต่วม บุญศรี รัตนัง บัวซอน อินทร์ถา และช่างซอหรือนักร้องเพลงคำเมือง

เพลงโฟล์คซองคำเมือง

ในระยะต่อมาประมาณต้นทศวรรษที่ 2520 ความนิยมในวงดนตรีลูกทุ่งคำเมืองเริ่มลดลง ในขณะเดียวกันหนุ่มสาววัยรุ่นซึ่งมีชีวิตอยู่ในเมืองและได้รับอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมจากตะวันตก เริ่มนิยมดนตรีแบบโฟล์คซองมากขึ้น โดยความหมายแล้วคำว่า “โฟล์คซอง” (folk song) นั้นหมายถึง “เพลงพื้นบ้าน” แต่ความหมายที่วัยรุ่นหนุ่มสาวไทยรู้จักและนิยมกันนั้น มิได้หมายถึงเพลงพื้นบ้านดั้งเดิมของไทย แต่หมายถึงลักษณะของเพลงตะวันตกที่มีลีลาการ้องและการเล่นดนตรีเรียบง่ายไม่ซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงโฟล์คซองอเมริกันมีอิทธิพลต่อวัยรุ่นไทยมาก เครื่องดนตรีที่ใช้เล่นประกอบด้วยกีตาร์โปร่ง เม้าท์ออแกนและแบนโจ ผู้เล่นเพลงโฟล์คซองอาจจะเล่นดนตรีและร้องเดี่ยวๆ หรืออาจจะตั้งเป็นวง 2-3 คนก็ได้

จุดเริ่มต้นของ “โฟล์คซองคำเมือง” นั้นก็คือการที่มีผู้นำเอาเพลง “ลูกทุ่งคำเมือง” มาเล่นและร้องในสไตล์ของโฟล์คซอง มีการแต่งเพลงขึ้นใหม่โดยใช้ภาษาคำเมือง ตลอดจนนำเอาเพลงซอมาขับร้องใหม่ โดยใช้กีตาร์เป็นเครื่องดนตรีประกอบ นั่นคือกำเนิดของเพลงแบบผสมครึ่งท้องถิ่นครึ่งตะวันตก ที่เรียกว่า “โฟล์คซองคำเมือง” ซึ่งได้รับความนิยมแพร่หลายต่อมา

เมื่อโฟล์คซองคำเมือง เริ่มเป็นที่นิยมแล้ว ก็ได้มีผู้บุกเบิกการบันทึกเสียงเพลงโฟล์คซองคำเมืองลงเทปตลับ ออกจำหน่ายคือ มานิต อัชวงศ์ เจ้าของร้านท่าแพบรรณาคาร โฟล์คซองคำเมืองชุดแรกที่ได้รับการบันทึกเสียงคือชุดของ “คณะต่องและเพื่อน” เทปชุดแรกนี้ดูเหมือนจะเป็นการทดลองในแง่ของการตลาด เพลงคำเมืองจึงมีเพียงด้านเดียว ส่วนอีกด้านหนึ่งของเทปเป็นเพลงตะวันตก เทปชุดที่สองต่อมา คือชุดของจรัล มโนเพ็ชร ซึ่งนับว่าเป็นชุดที่ได้รับความสำเร็จไม่น้อย การโฆษณาทางสื่อมวลชนต่างๆ เป็นแรงหนุนส่วนหนึ่งที่ทำให้เพลงโฟล์คซองคำเมืองได้รับความนิยมไม่เฉพาะแต่ในภาคเหนือเท่านั้น แต่ยังแพร่หลายไปทั่วประเทศโดยลำดับ ชื่อของจรัล มโนเพ็ชร เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการเพลงอย่างกว้างขวาง มีนักร้องร่วมในเทปชุดต่อๆ มาอีกคือ เกษม มโนเพ็ชร และสุนทรี เวชานนท์

เพลงสตริงคำเมือง

ในช่วง ที่เพลงโฟล์คซองกำลังได้รับความนิยมอยู่นี้ มีผู้ริเริ่มก่อตั้งวงดนตรีในลักษณะ “วงสตริงคำเมือง” ขึ้น โดยได้รับอิทธิพลจากวงดนตรีแนวป๊อบ หรือเพลงสมัยใหม่ของทางตะวันตก วงที่ตั้งขึ้นเป็นวงแรกได้แก่ “วงนกแล” ซึ่งถือว่าเป็นวงดนตรีเด็กแนว “สตริงคำเมือง” ที่ได้รับความนิยมมากทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ในช่วงประมาณ พ.ศ. 2527 อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพลงคำเมืองที่ได้รับความนิยมอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่ยาวนัก คือ ช่วงประมาณปลายทศวรรษที่ 2520 ถึงต้นทศวรรษที่ 2530

เพลงที่เป็นที่รู้จักทั้งในระดังท้องถิ่นถึงระดับประเทศ ได้แก่ เพลงนกแล เพลงหนุ่มดอยเต่า ฯลฯ เป็นต้น นอกจากนี้ ก็ยังมีวงที่ได้รับความนิยมวงอื่นๆ อีก เช่น วงเดอะม้ง วงสายธาราคอมโบ้ ฯลฯ เป็นต้น เพลงแนวสตริงเหล่านี้ ได้พัฒนาไปสู่เพลงในลักษณะ “เพลงเมดเล่ย์คำเมือง” ในภายหลัง

เพลงเมดเล่ย์คำเมือง

เพลงเมดเล่ย์คำเมือง เป็นการนำเอาเพลงคำเมืองที่เคยได้รับความนิยมในอดีตมาบันทึกเสียงใหม่ในลีลาและท่วงทำนองที่เร้าใจในลักษณะของเพลง disco ผู้ที่บุกเบิกเพลงในแนวนี้ ได้แก่ ออด (ไพศาล ปัญโญ) รวมแพลงเมดเล่ย์คำเมือง ชุด “กรุแตก” ของเขาที่ออกจำหน่ายในปี พ.ศ. 2539 ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และมีเพลงในลักษณะเดียวกันของนักร้องคนอื่นๆ ออกวางจำหน่ายตามมาอีกหลายชุด

รายการอ้างอิง

พรพรรณ วรรณา. 2542. “เพลงคำเมือง.” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 9. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

บทความอื่นเกี่ยวกับเพลงล้านนา | ไปหน้าฟังเพลง